รายละเอียด



หน่วยจัดการเรียนรู้ คณะวิทยาการสื่อสาร ร่วมกับประชาชน ต.ปะกาฮะรัง จัดจำหน่ายและสาธิตผลการเรียนรู้ในโครงการดังกล่าวโดยใช้ชื่อว่าตลาดนัดมากันนะ



เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา โครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง หน่วยจัดการเรียนรู้คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับผู้ร่วมเรียนรู้ใน ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี จัดจำหน่ายและสาธิตผลการเรียนรู้ในโครงการดังกล่าวโดยใช้ชื่อว่า “ตลาดนัดมากันนะ” ณ บริเวณหน้าสนาม อบต.ปะกาฮะรัง  กิจกรรมภายในตลาดนัดมากันนะ ประกอบด้วย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและผักปลอดสารเคมีจากโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ใน ต.ปะกาฮะรัง การบริการวัดตัวตัดเย็บเสื้อผ้าโดยผู้ร่วมเรียนรู้ การสาธิตการผลิตข้าวพองปะกาฮะรัง โดยวิสาหกิจชุมชแบแปปะกาฮะรัง สาธิตการผสมดินปลูก สาธิตการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง การชิมข้าวพองปะกาฮะรัง สลัดโรลจากผักปลอดสารเคมี และน้ำดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และมีการพบปะพูดคุยกันเกี่ยวกับกิจกรรมอาชีพให้แก่ผู้สนใจที่มาเที่ยวชมในตลาดนัดมากันนะ


ผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  และหัวหน้าโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดตลาดนัดมากันนะ คือ การแสดงผลการดำเนินโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรังที่ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยภาพรวมแล้วพบว่าผู้ร่วมเรียนรู้เป็นผู้มีศักยภาพในการเรียนรู้ ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญ คือ ด้านตัวของผู้ร่วมเรียนรู้ จะต้องมีทัศคติเชิงบวกต่อตัวเอง มองเห็นโอกาสการเรียนรู้ และการสนับสนุนจากครอบครัว ด้านองค์กรความรู้ จะต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้ร่วมเรียนรู้โดยตรง มาจากความต้องการและศักยภาพของผู้ร่วมเรียนรู้ ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การออกแบบการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม วิธีการจัดการเรียนรู้ การทดลองและฝึกปฏิบัติจริง และการสรุปการเรียนรู้ ด้านผู้สนับสนุนการเรียนรู้ จะต้องมีความเข้าใจผู้ร่วมเรียนรู้ มีทัศนคติในเชิงบวกต่อผู้ร่วมเรียนรู้ การติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด และยืดหยุ่นต่อข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้
           “ระหว่างการดำเนินโครงการมีผู้ร่วมเรียนรู้หลายคนหายไปจากกระบวนการเรียนรู้ ในฐานะผู้จัดการเรียนรู้เราต้องไปติดตาม สอบถาม พูดคุยกับผู้ร่วมเรียนรู้โดยตรงถึงข้อจำกัดของเขา แต่ละคนแต่ละครอบครัวนั้นแตกต่างกัน จากนั้นเราก็จะนำมาประเมินว่าจะมีวิธีการใดบ้างที่จะดึงเขาให้อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ ไม่ให้เขาเสียโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้เขาเป็นผู้แก้ปัญหาตนเอง ไม่เป็นมือล่างที่คอยรับความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายทั้งต่อตัวผู้ร่วมเรียนรู้ และต่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ ด้วย”  ผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา  กล่าว

ด้าน ผศ.จารียา อรรถอนุชิต อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   ในฐานะผู้ร่วมดำเนินโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง กล่าวถึงผลจากการดำเนินโครงการว่า สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การจัดกระบวนการเรียนรู้และดำเนินการแก้ปัญหาตนเองในลักษณะบุคคล เช่น กลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้วิชาเลี้ยงสัตว์และลดต้นทุน วิชาเครื่องดื่มสมุนไพร วิชาการตลาดออนไลน์ วิชาตัดเย็บเสื้อผ้า วิชาช่างยนต์ เมื่อเขาเรียนรู้แล้วก็สามารถนำไปปฏิบัติในลักษณะส่วนบุคคล ข้อดี คือ บุคคลที่มีศักยภาพจะเห็นโอกาสและสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติจริงได้ทันที ข้อจำกัด คือ บุคคลที่ขาดศักยภาพจะไม่สามารถต่อยอดความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงได้ ไม่เกิดอาชีพของตนเอง ส่วนที่ 2 การจัดกระบวนการเรียนรู้และดำเนินการแก้ปัญหาตนเองในลักษณะกลุ่ม มีเพียงผู้ร่วมเรียนรู้วิชาการแปรรูปข้าวพองปะกาฮะรัง ปัจจุบันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแบแปปะกาฮะรัง ข้อดี คือ การทำงานมีความเข้มแข็ง มีพลัง และมีความสุขในการประกอบอาชีพร่วมกัน มีรายได้เพิ่มขึ้นชัดเจน แต่กลุ่มต้องไม่ใหญ่เกินไปเพื่อให้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ข้อจำกัด คือ พอเป็นกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ จำเป็นต้องมีสถานที่ในการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากหลายฝ่าย
.
ส่วนที่ 3 การจัดกระบวนการเรียนรู้และดำเนินการแก้ปัญหาตนเองในลักษณะผสมผสานกัน เป็นการรวมกลุ่มกันในบางกิจกรรม และแยกกันปฏิบัติที่บ้านของตนเอง ดังเช่นกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้วิชาผักยกแคร่ที่ผู้ร่วมเรียนรู้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง กลุ่มนี้รักการปลูกผัก แต่มีข้อจำกัดคือการเดินทาง การจำหน่ายสินค้าของตนเอง เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มกันในบางกิจกรรม เช่น รวมกันขาย ร่วมกันเรียนรู้ บางกิจกรรมก็แยกกันทำ เช่น การปลูกผักที่บ้านตนเอง ขณะนี้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนด้วยเช่นกัน โดยมีคนรุ่นใหม่ในชุมชนเข้ามาช่วยเหลือเป็นแกนนำในบางกิจกรรม
.
สำหรับโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรังเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้ร่วมเรียนรู้สามารถพัฒนาอาชีพของตนเอง มีกลุ่มเป้าหมายใน ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี จำนวน 60 คน ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และเยาวชนนอกระบบการศึกษา ดำเนินการจัดการเรียนรู้ 7 วิชา ได้แก่ วิชาปลูกผักยกแคร่ วิชาน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ วิชาแปรรูปข้าวพองปะกาฮะรัง วิชาตัดเย็บเสื้อผ้า วิชาช่างยนต์ วิชาการตลาดออนไลน์ วิชาเลี้ยงสัตว์และลดต้นทุน 
 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจากคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี