รายละเอียด



เปิดเวทีส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเพื่อคนพิการ ที่ ม.อ.ปัตตานี นำขอเสนอแนะให้ภาครัฐในพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายแนวทางสิทธิของคนพิการ หนุนเสริมจัดบริการสาธารณะ และสวัสดิการคนพิการอย่างทั่วถึงตามหลักสิทธิมนุษยชน



คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  จัดโครงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ภายใต้หัวข้อ “Universal Design: อารยสถาปัตย์เพื่อสิทธิคนพิการ  คาดหวังว่าหน่วยงานภาครัฐจะตระหนักถึงสิทธิของคนพิการ โดยจัดบริการสาธารณะ และจัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือดูแลคนพิการอย่างทั่วถึงตามหลักสิทธิมนุษยชน  และเป็นเวทีข้อเสนอแนะให้จังหวัดปัตตานี นำไปสู่ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาแนวทางสิทธิของคนพิการทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพื่อให้สิทธิคนพิการได้รับการยอมรับมากขึ้น


          เมื่อวันนี้  (14 กุมภาพันธ์ 2567)  ณ ห้องประชุมปริชญากร สำนักงานวิทยาเขตปัตตานี   คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   จัดโครงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ภายใต้หัวข้อ “Universal Design: อารยสถาปัตย์เพื่อสิทธิคนพิการ  ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ    โดยมีนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิด  ผศ.ดร.ดิเรก หมานมานะ  คณะกรรมการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  กล่าวรายงาน    กล่าวต้อนรับโดย ผศ.ดร. อัตชัย เอื้ออนันตสันต์  รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี  และ ผศ.ดร.ชาคร  ประพรหม  รองคณบดีฝ่ายวิจัยและยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์   ทั้งนี้มี ผศ. ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   นายสุเรนทร์ ปะดุกา  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้  และผู้ทรงคุณวุฒิ  ตลอดจนนักศึกษา ตัวแทนหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป จำนวน 160 คน  ร่วมในพิธีเปิดและเวทีบรรยายพิเศษ 


    
นางพาตีเมาะ สะดียามู    ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี   กล่าวถึงบทบาทของจังหวัดปัตตานีกับการส่งเสริมสิทธิคนพิการว่า จังหวัดปัตตานีได้ขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล   จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนพิการ จำนวน51,920 คน เป็นผู้หญิง  23,072 คน และผู้ชาย 28,848 คน หรือ  2.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในจังหวัด เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่น้อยเป็นชาติพันธุ์มลายูและมุสลิมจึงมีแนวโน้มว่าคนพิการส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นชาวไทย– มลายูมุสลิมที่พูดภาษามาลายู ในขณะที่คนพิการที่มีจำนวนน้อยกว่าและไม่ทราบจำนวนจะเป็นคนกลุ่มอื่น ๆ ในพื้นที่ซึ่งรวมทั้งชาวพุทธจีน – ไทย    การอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งของผู้พิการนับว่าเป็นความท้าทายของจังหวัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้น นอกจากปัญหาการว่างงานในอัตราสูง การเข้าถึงการศึกษาที่ถูกจำกัด สุขภาพที่แย่ลง โอกาสทางเศรษฐกิจที่น้อยลง อัตราความยากจนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองโดยทั่วไปแล้ว การรับรู้เกี่ยวกับสิทธิคนพิการตามกฎหมายไทยที่จำกัดและไม่เพียงพอ หรือการมีความรู้ที่ยังไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริการเพื่อคนพิการ เช่น ความไม่ถูกต้องในการแปลข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิคนพิการ การแปลระหว่างภาษาไทยเป็นภาษามาลายูท้องถิ่นเป็นภาษามืออาจเป็นอุปสรรคต่อผู้พิการ ซึ่งในความเป็นจริงควรเป็นบริการและผลประโยชน์ที่เขามีสิทธิที่พึงได้รับ นอกจากนี้ การตีตราความพิการยังนำไปสู่การที่คนพิการจำนวนมาก รวมถึงครอบครัวของพวกเขาไม่สามารถเปิดเผยผู้พิการที่อยู่ในบ้าน ทำให้พวกเขาไม่เข้าถึงการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการด้านสุขภาพหรือสวัสดิการอื่น ๆ  ดังนั้นการจัดเวทีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคนพิการ ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ น่าจะมีข้อเสนอแนะให้กับทางจังหวัด เพื่อนำไปสู่ติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนโยบาย การพัฒนาแนวทางสิทธิของคนพิการทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพื่อให้สิทธิคนพิการได้รับการยอมรับมากขึ้น


ผศ.ดร.ดิเรก หมานมานะ  คณะกรรมการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน   กล่าวว่า ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ระหว่างคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   เล็งเห็นว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีปัญหาเรื่องคนพิการ ซี่งถือเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่อาจถูกเลือกปฏิบัติหรือเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ เท่าที่ควร ประกอบกับประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเครือข่ายอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อผูกพันที่จะต้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนพิการอย่างทั่วถึง รวมทั้งขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการในทุกรูปแบบ รวมถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550   กำหนดให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ  ดังนั้น คณะกรรมการดำเนินงานฯ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ภายใต้ หัวข้อ “Universal Design: อารยสถาปัตย์เพื่อสิทธิคนพิการ  เพื่อส่งเสริมสิทธิคนพิการและการเข้าถึงบริการสาธารณะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 2567 ตามบันทึกข้อตกลงฯ ให้มีผลเป็นรูปธรรม   คาดหวังว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในหลักการและความสำคัญของคนพิการตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่จะได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมและคุ้มครองเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์    ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐควรจะตระหนักถึงสิทธิของคนพิการ โดยจัดบริการสาธารณะ และจัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือดูแลคนพิการอย่างทั่วถึง ตามหลักสิทธิมนุษยชน   


 

ผศ.ดร. อัตชัย เอื้ออนันตสันต์  รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี    กล่าวถึงบทบาทมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ว่า  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  กับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  นับว่าเป็นการขับเคลื่อนภารกิจในด้านวิชาการ และการประสานความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อประโยชน์สูงสุดจะเกิดขึ้นกับคนพิการที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น    ทั้งนี้ปัญหาคนพิการไม่ใช่เรื่องของสังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น เป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีรากฐานปัญหาคือด้านการศึกษา มีคนพิการเรียนจบระดับ อุดมศึกษา 1.04% มัธยมศึกษา 8.28% ประถมศึกษา 61.01% จากคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทั้งหมด โดยเฉพาะระดับปริญญาตรี 0.16% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก  ดังนั้น จากหัวข้อของโครงการ ในครั้งนี้คาดหวังว่า มหาวิทยาลัยจะได้รับข้อเสนอแนะ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้เข้าใจคนพิการได้มากขึ้น และสร้างโอกาสให้คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป 


 

ผศ.ดร.ชาคร ประพรหม  รองคณบดีฝ่ายวิจัยและยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวเพิ่มเติมว่า   โครงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ภายใต้หัวข้อ “Universal Design: อารยสถาปัตย์เพื่อสิทธิคนพิการ ในครั้งนี้  เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้พิธีลงนามเมื่อวันที่ 23  กุมภาพันธ์ 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ว่าด้วยกรอบความร่วมมือไว้ 7 ข้อ คือ (1) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสถาบันการศึกษา  (2) ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรหรือรายวิชาด้านสิทธิมนุษยชน และจัดให้มีการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบในสถาบันอุดมศึกษา (3) จัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ และสามารถนําไปประยุกต์ใช้ในการปกป้องสิทธิของตนเองและส่วนรวมได้อย่างถูกต้อง (4) สร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาดำเนินการวิจัย รวมทั้งแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์จากผลงานทางวิชาการระหว่างกัน (5) พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมให้อาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ได้รับความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านประสบการณ์จริงในพื้นที่   (6) ส่งเสริมประสบการณ์วิชาชีพ หรือสหกิจศึกษาของนักศึกษา ณ สำนักงาน กสม. หรือองค์กรเครือข่าย และ  (7) สร้างพื้นที่ความร่วมมือและพัฒนาหรือขยายเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน.

                                                                                                                                                                                  ติดตามภาพกิจกรรมได้ที่เพจ : psupattanicampus