รายละเอียดข่าว


ทีมนักวิชาการ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการกินอยู่ ดูดีมีอาชีพ ที่ปะกาฮะรัง จังหวัดปัตตานี มุ่งสร้างการเรียนรู้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน




    วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567  คณะทำงานโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะหน่วยจัดการเรียนรู้ และผู้ร่วมเรียนรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่ลงพื้นที่ หมู่ 3 ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 หลักสูตรของโครงการกินอยู่ ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  



    ผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา หัวหน้าโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า โครงการนี้มีการวางแผนการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 10 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีขั้นตอนการดำเนินงาน 3 ระยะ ได้แก่ การออกแบบการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ และสรุปการเรียนรู้ โดยมีการจัดการเรียนรู้ 7 หลักสูตร สำหรับกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในชุมชน ก่อนหน้านี้ได้นำทีมสมาชิกเดินทางศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติการทำเกษตรและผักยกแคร่  เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567  ณ ศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรปลูกผักยกแคร่ บ้านคลองปอม หมู่ 11 ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี


    การดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานในระยะที่สองขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้ ทีมนักวิชากรและสมาชิกโครงการได้วางเป้าหมายร่วมกัน จำนวน 22 แคร่ การเรียนรู้ครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากครั้งที่แล้ว ซึ่งทีมนักวิชาการได้ลงพื้นที่มาให้ความรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่ ในพื้นที่ หมู่ 1 แล้วเสร็จไปจำนวน 8 ครัวเรือน ครั้งนี้ ได้ตั้งเป้าดำเนินการกิจกรรมปลูกผักยกแคร่ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ ณ หมู่ 3 ต.ปะกำฮะรัง จำนวน 6 แคร่ 6 ครัวเรือนของสมาชิกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ  เป้าหมายหลักของกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกนำความรู้และทักษะมาทดลองปฏิบัติจริงในครัวเรือนของตนเอง