รายละเอียด



เปิดประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) สัญจร ครั้งที่ 1 ที่ ม.อ.ปัตตานี



       

           มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) สัญจร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566  ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน 2566  ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ  มีเครือข่าย SUN Thailand 43 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยมาร่วมงาน โดยพิธีเปิดจัดขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2566 ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live: Pattani Campus  


             

           เมื่อเช้าวันนี้  (21 เมษายน 2566) ที่ห้องประชุมปริชญากร ชั้น 4 สำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   ได้มีพิธีเปิดการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) สัญจร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ  แก้วประดับ     อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นประธานในพิธีเปิด   นางพาตีเมาะ สะดียามู   ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี   กล่าวต้อนรับ   ผศ. ดร.บดินทร์ แวลาเตะ   
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวรายงาน  และ ผศ.ว่าที่ร้อยตรี ดร.กิตติคุณ  รุ่งเรือง รองอธิการบดีฝ่ายองครักษ์และพัฒนากายภาพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ    ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย  กล่าวขอบคุณ  การจัดประชุมในครั้งนี้มีมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมทั้งแบบ Onsite และทาง Online จำนวน 43 สถาบัน  โดยมีสมาชิกเครือข่าย ร่วมประชุมแบบ Onsite จำนวน 20 สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา  มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์  มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา   มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี  มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์    มหาวิทยาลัยหาดใหญ่   มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  มหาวิทยาลัยบูรพา  มหาวิทยาลัยสยาม
             ผศ.ดร.บดินทร์ แวลาเตะ  รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ วิทยาเขตปัตตานี   กล่าวรายงานถึงการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) สัญจร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566   ว่า  ปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยฐานคิด ที่ต้องการให้เกิดภาวะยั่งยืนในแง่ของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สถาบันการศึกษาถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและ ถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้และถ่ายทอดผ่านกระบวนการศึกษาและงานวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ ดังนั้น บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคสถาบันการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างและเกิดเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University Network of Thailand: SUN Thailand) ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน       ในสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้ระหว่างสถาบันเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคส่วนการศึกษาและเป็นต้นแบบให้กับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมไทย  
           ในปี 2563 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและนำองค์ความรู้มาต่อยอดและพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้สามารถดำเนินการตามแนวทางมหาวิทยาลัยยั่งยืน และนำประสบการณ์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาปรับใช้กับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาความยั่งยืนให้กับภาคส่วนอื่นในสังคมต่อไป และในปี 2566 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (สัญจร) ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน 2566  มีมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมทั้งแบบ Onsite และทาง Online ผ่านระบบ Zoom Meeting จำนวน 43 สถาบัน  โดยมีกิจกรรมหลายรูปแบบ  อาทิ   กิจกรรมบรรยายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรณีศึกษา Creative Economy  ได้แก่  โครงการปัตตานีเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนเส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรม : Pattani Heritage City ภายใต้ Creative Economy  , โครงการการพัฒนาวิสาหกิจผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นจากผลผลิตการเกษตรอัตลักษณ์  , การศึกษาดูงานสถานที่ด้านพหุวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี  ได้แก่  เส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรม   เช่น ย่านเมืองเก่าอา-รมณ์-ดี   ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  มัสยิดกลางปัตตานี   เส้นทางสู่วัฒนธรรม-ธรรมชาติ  เช่น  สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  มัสยิดกรือเซะ  ป่าโกงกางบางปู   สักการะหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ,  กิจกรรมปลูกต้นศรีตรัง  ณ Blue Lake มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   ศึกษาดูงาน และเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้หัตถศิลป์  สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา   โรงเพาะฟักสัตว์น้ำ (ปูทะเล) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ป่าชายเลน และหอดูนก  ,  การประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2566  ,     การบรรยาย เรื่อง “Green Parcels: University Actions towards Zero Emission”  และการปลูกต้นศรีตรัง เป็นต้น
           ผศ.ดร.อัตชัย  เอื้ออนันตสันต์  รักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน  หรือ “SUN Thailand (Sustainable University Network of Thailand)” มาจากแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรต่างๆ ทั่วโลกที่ต่างตระหนักถึงวิกฤตการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาที่มุ่งเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างเกินขีดจำกัด โดยแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้จะให้ความสำคัญกับการบูรณาการระหว่างมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ทุกประเทศจะนำไปเป็นกรอบหรือทิศทางของการพัฒนาประเทศ ในขณะที่ “สถาบันการศึกษา” ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการศึกษา และวิจัยเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม ได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐบาล ภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปถ่ายทอด และประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติและของโลก
          นางพาตีเมาะ สะดียามู   ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี   กล่าวเพิ่มเติมว่า  จังหวัดปัตตานีมีความยินดีที่ได้รับเกียรติจากที่ประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี ในครั้งนี้ จังหวัดปัตตานี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ตอนล่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น เพียบพร้อมด้วยแหล่งประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์รวมของประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา สืบเนื่องมาจากความเจริญรุ่งเรืองทางการปกครองและการค้าในอดีต  จังหวัดปัตตานีจึงมีวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างศาสนา วิถีชีวิต ศิลปวัฒธรรม ประเพณี และหลักศรัทธาความเชื่อของผู้คนที่หลากหลายผ่านการอยู่ร่วมกัน ผสมผสานและการดำรงซึ่งอัตลักษณ์ กลายเป็น “เมืองปัตตานีบนเส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรม” มีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ได้แก่ เมืองโบราณยะรัง เมืองเก่ากรือเซะ-บานา วัดราษฎร์บูรณะหรือวัดช้างให้  ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดกรือเซะ มัสยิดกลางปัตตานี เป็นต้น  ชุมชนท่องเที่ยวในจังหวัดปัตตานี ได้แก่ ชุมชนท่องเที่ยวเสน่ห์บางปู ชุมชนท่องเที่ยวสะพานไม้บานา ชุมชนท่องเที่ยวแหลมโพธิ์ ชุมชนท่องเที่ยวบางปูอเมซิ่งทัวร์ เป็นต้น  นอกจากนี้ จังหวัดปัตตานียังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย ได้แก่ หาดตะโละกาโปร์ หาดแฆแฆ  แหลมตาชี อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง เป็นต้น