รายละเอียด



ม.อ. ปัตตานี ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดปัตตานี พัฒนาระบบโรงเรือนและวิธีกระตุ้นปูทะเลเพศเมียให้ออกไข่นอกกระดองสำเร็จ



        ปูทะเลหรือเรียกกันว่าปูดำถือว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภค มีรสชาติที่ดีและราคาที่แพง การขาดแคลนแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดองเพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์และอนุบาล เป็น pain point และคอขวดสำคัญที่ส่งผลให้การเพาะและขยายพันธุ์ปูทะเลในประเทศไทยยังประสบความสำเร็จไม่มากนัก ส่งผลต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปูทะเลของประเทศ โดยธรรมชาติการผสมพันธุ์ของปูเกิดขึ้นหลังจากตัวเมียลอกคราบใหม่ๆ ปูเพศผู้จะเข้าผสมพันธุ์และปล่อยถุงน้ำเชื้อเก็บไว้ในปูเพศเมีย เมื่อไข่พัฒนาเต็มที่ปูเพศเมียจะปล่อยไข่ออกมาผสมกับน้ำเชื้อแล้วนำไข่มาเก็บบริเวณจับปิ้งซึ่งจะเรียกว่าปูไข่นอกกระดอง การจัดหาแม่พันธุ์ปูไข่นอกกระดองจากธรรมชาติถือว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากโดยปกติปูทะเลจะอาศัยบริเวณชายฝั่งป่าชายเลน แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องปล่อยไข่ให้ออกไปอยู่นอกกระดอง ปูจะว่ายน้ำในช่วงที่ไข่ยังอยู่ในตัวเพื่อไปหาแหล่งที่เหมาะสมที่ระดับความลึกราว 30 -50 เมตร บริเวณนอกชายฝั่ง 


        คณะนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดปัตตานี ได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบการกระตุ้นแม่พันธุ์ปูทะเลให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดองขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแม่พันธุ์ปูทะเลที่มีไข่นอกกระดองโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จนได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ
        รศ.ดร. ซุกรี หะยีสาแม หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ได้พัฒนาโรงเรือนสำหรับเลี้ยงแม่ปูโดยใช้หลักการจำลองสภาพแวดล้อมสมือนกับการที่ปูอาศัยอยู่บริเวณท้องทะเลตามธรรมชาติ โดยคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับแสง คุณภาพน้ำ การถ่ายเทและหมุนเวียนน้ำ อาหารและการให้อาหาร ทรายรองพื้นสำหรับปล่อยไข่ และหลีกเลี่ยงการรบกวนปู ระบบและวิธีนี้สามารถกระตุ้นให้แม่ปูที่มีไข่ในกระดองให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดองมาเก็บไว้บริเวณส่วนจับปิ้งและฟักออกมาเป็นลูกปูระยะซูเอียได้ร้อยละ 75-85 จากการนำปูเข้าสู่ระบบเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ปัจจุบันแม่ปูทะเลที่มีไข่นอกกระดองหรือลูกปูระยะซูเอียที่ผลิตได้จากโครงการวิจัยฯ ได้ถูกส่งมอบให้แก่หน่วยงานที่สนใจเพื่อนำเอาลูกปูไปอนุบาลต่อไปเพื่อให้บริการแก่เกษตรกรและการเพิ่มปริมาณปูทะเลในแหล่งน้ำธรรมชาติ 
         นายฮาฟีซี เจ๊ะมะ นักวิจัยในโครงการฯ ระบุว่า ระบบและวิธีนี้เป็นการกระตุ้นให้ปูปล่อยไข่ออกนอกกระดองโดยไม่ต้องใช้วิธีตัดตา เลี้ยงแม่พันธุ์ปูทะเลด้วยระบบน้ำหมุนเวียน  โดยใช้ถังกลมสีดำขนาด 120 ลิตรเชื่อมต่อเข้าด้วยกันให้เป็นระบบน้ำหมุนเวียน พร้อมให้อากาศตลอด มีการควบคุมปัจจัยด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับความเค็มอยู่ในช่วง 32-35 ppt  อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 27 °C ค่าอัลคาไลน์ ไม่ต่ำกว่า 100 mg/l สภาพแสง อาหาร ระดับความลึกของน้ำ ขนาดประเภทของทรายที่ใช้ในการรองพื้นสำหรับวางไข่ และวิธีการคัดเลือกแม่ปูไข่ในกระดองที่มีความสมบูรณ์เพื่อลดระยะเวลาในการเลี้ยง ให้ไข่นอกกระดองที่มีคุณภาพสูง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการกระตุ้นแม่ปูให้ปล่อยไข่ออกมานอกกระดองพร้อมเก็บไข่มาไว้บริเวณจับปิ้งได้สำเร็จ 
          นายทศพล พลรัตน์ นักวิชาการประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดปัตตานี และนักวิจัยในโครงการ กล่าวว่า ได้นำลูกปูที่ได้รับจากแม่ปูที่ผลิตโดยระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ไปทดลองอนุบาลเพื่อให้ได้ขนาดที่สามารถนำลงไปเลี้ยงในบ่อ พบว่าลูกปูมีสภาพแข็งแรงดีมาก สามารถทดแทนแม่ปูที่นำเข้าจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นระบบที่สามารถสร้างได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก มีผลสัมฤทธิ์ที่น่าพอใจ จะส่งผลต่อการทลายกำแพงคอขวดของวงการเพาะเลี้ยงปูทะเลของประเทศไทย
ต่อไปได้