รายละเอียด



ม.อ. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) สัญจร ครั้งที่ 1 ที่ ม.อ.ปัตตานี



      มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) สัญจร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566  ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน 2566  ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ มีเครือข่าย มีเครือข่าย SUN Thailand 41 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยมาร่วมงาน โดยพิธีเปิดจัดขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2566 ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live: Pattani Campus  
       ผศ.ดร.อัตชัย  เอื้ออนันตสันต์  รักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน  หรือ “SUN Thailand (Sustainable University Network of Thailand)” มาจากแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรต่างๆ ทั่วโลกที่ต่างตระหนักถึงวิกฤตการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาที่มุ่งเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างเกินขีดจำกัด โดยแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้จะให้ความสำคัญกับการบูรณาการระหว่างมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ทุกประเทศจะนำไปเป็นกรอบหรือทิศทางของการพัฒนาประเทศ ในขณะที่ “สถาบันการศึกษา” ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการศึกษา และวิจัยเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม ได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐบาล ภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปถ่ายทอด และประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติและของโลก
       การประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) สัญจร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566  ในครั้งนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ระหว่างสถาบัน สร้างเครือข่ายและความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคส่วนการศึกษาโดยเป็นต้นแบบให้กับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมไทย และให้สถาบันการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านกระบวนการศึกษา และวิจัย โดยมีเป้าหมายผลลัพธ์ของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม รวมถึงนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ถ่ายทอดผ่านกลไกการประยุกต์เพื่อให้เกิดการใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติและโลก ในบริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การประยุกต์แนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่นโยบายการบริหาร และกิจกรรมการดำเนินงานของสถาบันการศึกษา ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพขององค์ความรู้ เป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ และบุคลากรที่จะออกสู่ชุมชน และสังคม   โดยมีกิจกรรมหลายรูปแบบ  อาทิ 
        วันที่ 20 เมษายน 2566   กิจกรรมบรรยายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรณีศึกษา Creative Economy  ได้แก่  โครงการปัตตานีเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนเส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรม : Pattani Heritage City ภายใต้ Creative Economy  , โครงการการพัฒนาวิสาหกิจผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นจากผลผลิตการเกษตรอัตลักษณ์  , การศึกษาดูงานสถานที่ด้านพหุวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี  ได้แก่  เส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรม   เช่น ย่านเมืองเก่าอา-รมณ์-ดี   ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  มัสยิดกลางปัตตานี   เส้นทางสู่วัฒนธรรม-ธรรมชาติ  เช่น  สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  มัสยิดกรือเซะ  ป่าโกงกางบางปู   สักการะหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ,  กิจกรรมปลูกต้นศรีตรัง  ณ Blue Lake มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
         วันที่ 21 เมษายน 2566   พิธีเปิดการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (สัญจร)  ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566  โดย ผศ.ว่าที่ร้อยตรี ดร.กิตติคุณ  รุ่งเรือง รองอธิการบดีฝ่ายองครักษ์และพัฒนากายภาพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566  สามารถรับชมถ่ายทดสดผ่าน Facebook Live: Pattani Campus  , การศึกษาดูงาน และเยี่ยมชมสถานที่ภายในวิทยาเขตปัตตานี  อาทิ    ศูนย์เรียนรู้หัตถศิลป์  สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา   โรงเพาะฟักสัตว์น้ำ (ปูทะเล) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ป่าชายเลน และหอดูนก  ,  การประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2566  ,  การบรรยาย เรื่อง “Green Parcels: University Actions towards Zero Emission”  ณ ห้องประชุมปริชญากร ชั้น 4 อาคารสำนักงานวิทยาเขตปัตตานี   เป็นต้น