โครงการจัดตั้งศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน
ANDAMAN HEALTH AND WELLNESS CENTER

วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ
International Health and Science College

วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ
International Health and Science College

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
Songklanagarind Hospital Phuket Campus

ศูนย์ทันตกรรมดิจิทัลสงขลานครินทร์
Dental Digital Center

หน่วยบริการแพทย์แผนไทย ม.อ.ภูเก็ต
Traditional Thai Medical Service Center, PSU Phuket

หลังจากมติครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ในวงเงินงบประมาณผูกพันกว่า 5 พันล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570)

  • 2566 วงเงิน 1,291,049,290 บาท
  • 2567 วงเงิน 1,656,586,967 บาท
  • 2568 วงเงิน 1,476,662,940 บาท
  • 2569 วงเงิน 498,152,458 บาท
  • 2570 วงเงิน 193,810,877 บาท

เกี่ยวกับโครงการ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยขอผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2570 รวมงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 5,116,262,532 บาท โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เช่น 1) เพื่อเป็นสถานที่ผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ แพทย์ทางเลือก และอื่น ๆ 2) เป็นสถานที่ทำการวิจัย พัฒนาด้านวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน 3) ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามันเกี่ยวกับการดูแล ตรวจรักษา และรักษาโรคซับซ้อน 4) สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและชาวต่างชาติในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย 5) สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ (International Health and Science Collage) (ปรับปรุงอาคาร) งบประมาณจำนวน 212,500,000 บาท โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต (International Hospital) (ก่อสร้างอาคารใหม่) งบประมาณจำนวน 4,762,262,532 บาท ศูนย์สุขภาพนานาชาติ (International Wellness Center) โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการเฉพาะศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล สงขลานครินทร์ (International Dental Center) (ปรับปรุงอาคาร) งบประมาณจำนวน 141,500,000 บาท เนื่องจากมีความพร้อม ส่วนกิจกรรม Wellness ด้านอื่น ๆ จะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการประชุม ครั้งที่ 416 (6/2563) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการ และให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน เช่น แผนงาน แผนเงิน แผนดำเนินงาน เป็นต้น และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน  เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เห็นสมควรกำหนดเพิ่มวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัดระดับโครงการ และตัวชี้วัดที่สะท้อนผลสำเร็จของกิจกรรมที่จะส่งผลสัมฤทธิ์ระดับโครงการ ซึ่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สธ. เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ อว. และ สธ. ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน และโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เพื่อให้เกิดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ANDAMAN HEALTH AND WELLNESS CENTER

“ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นความริเริ่ม โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยเห็นว่าในพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่เป้าหมายและมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวในระดับสากลอยู่แล้ว การมุ่งยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศ ตลอดจนผสมผสานศักยภาพด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก และมีจุดเด่นเอกลักษณ์ที่เป็นที่จดจำ จึงเหมาะสมที่จะเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ต่อการพัฒนา แนวคิดในการจัดตั้งศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จึงเกิดขึ้น  โดยเป้าหมายการจัดตั้งศูนย์ฯ ก็เพื่อ
 “มุ่งสร้างการดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่จังหวัดอันดามัน รวมทั้งผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นการสนองยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล”
โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ได้ผ่านความเห็นชอบจากมติสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2562 และได้มีการบรรจุโครงการในแผนยุทธศาสตร์ฯ 2561-2565 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และถือเป็นหนึ่งในจุดเน้นตามหลักการ PSU System ซึ่งมีวิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) เป็นผู้ดำเนินการ  


โครงสร้างการดำเนินงานศูนย์

โครงการศูนย์ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และศูนย์สุขภาพนานาชาติ
วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ (International Health and Science College)
จะมีผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่อันดามันและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการผลิตทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์และแพทย์แผนไทย นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเป็นโอกาสทางการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์การศึกษาด้านสาธารณสุขของภูมิภาคอาเชียนด้ว
 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (Songklanagarind Hospital Phuket Campus)
เพื่อให้ประชาชนในกลุ่มจังหวัดอันดามันได้รับบริการรักษาโรคซับซ้อน โดยที่สถานพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถรองรับได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย โดยเตรียมความพร้อมทั้งองค์ความรู้และบุคลากรเพื่อรองรับปัญหาทางด้านสุขภาพใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการรองรับสังคมผู้สูงวัย
ศูนย์สุขภาพนานาชาติ (International Wellness Center)
เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ให้ได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่เกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดูแลแบบครบวงจร ทั้งรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพและส่งเสริมสุขภาพ
เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพทั่วไป/ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจวัดความดันโลหิต-ดัชนีมวลกาย, ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, ตรวจวัดระดับน้ำตาล-ไขมันในเลือด, ตรวจสมรรถภาพการทำงานของตับ-ไต  ตรวจคัดกรองโรคต่างๆ ตรวจหาสารบ่งชี้โรคมะเร็ง, ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน และ เตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน, ตรวจสุขภาพตามใบสั่งแพทย์ และ บริการอื่นๆ เช่น บริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่, บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ และอื่นๆ
ศูนย์ทันตกรรมดิจิทัลสงขลานครินทร์ (Dental Digital Center)
เป็นศูนย์ทันตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัยแห่งแรกของภาคใต้ที่จะใช้ AI เข้ามาช่วยอย่างเต็มรูปแบบเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่มีเวลาจำกัด เช่น การมาใช้บริการทุกอย่างจบภายใน 1-2 วัน ไม่ว่าจะเป็นการรักษา วินิจฉัยหรือทำฟัน จากเดิมที่อาจใช้เวลาเป็นเดือนในบางขั้นตอน รวมไปถึงสามารถดูแลรักษาตั้งแต่ก่อนเดินทางมาไทย มีการวินิจฉัยขั้นต้นหรือมาถึงรู้ได้เลยว่าต้องทำแค่ไหนอย่างไร ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 2567 และมีรายได้จากการให้บริการชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
 
หน่วยบริการแพทย์แผนไทย ม.อ.ภูเก็ต (Traditional Thai Medical Service Center, PSU Phuket)
โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย มีเป้าหมายยกระดับแพทย์แผนไทยเป็นแพทย์แผนโลก โดยนำแพทย์แผนไทยมายกระดับให้มีมาตรฐาน ประกาศให้โลกรู้ว่าแพทย์แผนไทยคือแพทย์แผนโบราณที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลก โดยเอางานวิจัยที่เป็นทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน มีความปลอดภัยเพราะใช้สมุนไพร รักษาทางจิตใจ สติสมาธิ เป็นภูมิปัญญาที่มีแต่เดิม