ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. โชว์ผลงานวิจัยขับเคลื่อนชุมชน ผนึกกำลังเครือข่ายสัมพันธ์ สงขลานครินทร์




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดโครงการเครือข่ายสัมพันธ์ สงขลานครินทร์ ครั้งที่ 4 (The 4th PSU Network on Trang Campus) เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะผลงานเพื่อชุมชน รวมทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายการสื่อสารผลงานและกิจกรรมมหาวิทยาลัยสู่สื่อมวลชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยในปีนี้จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2566 โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ และรักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมต้อนรับสื่อมวลชนจากส่วนกลาง ภาคเหนือ และพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเครือข่ายประชาสัมพันธ์ทั้ง 5 วิทยาเขต ที่เข้าร่วมงานอย่างอบอุ่น




ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวว่า ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการดำเนินภารกิจทั้งการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ การผลิตบัณฑิต การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย การขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ การมีระบบรักษาพยาบาลที่มั่นใจในคุณภาพ คุณธรรมและการรักษาพยาบาลที่เป็นเลิศ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการ มีการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และได้นำผลงานนวัตกรรมและบริการวิชาการ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพในระดับต้น ๆ ของประเทศและระดับโลก



การวางแผนการดำเนินงานใน 4 ปี จนถึงปี 2570 มหาวิทยาลัยได้มีการกําหนดวิสัยทัศน์ใหม่ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่าเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก เพื่อสร้างศักยภาพในการดำเนินการเรื่องที่สําคัญและส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งต่อชุมชนภาคใต้ ประเทศไทยและสังคมโลกได้อย่างแท้จริง จะมีการปรับวิธีการทำงานให้พร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของสังคม โดยใช้ศักยภาพของสถาบันที่เป็นสมองของประเทศที่ทุกคนให้ความเชื่อถือและไว้วางใจ โดยจะเน้นการขับเคลื่อนเพื่อวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 5 ประเด็น คือ เรื่องเกษตรอาหาร สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคมพหุวัฒนธรรม และการสร้างนวัตกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งของประเทศไทย และเป็นความพร้อมของสงขลานครินทร์




“โครงการเครือข่ายสัมพันธ์ สงขลานครินทร์ ครั้งที่ 4” นอกจากสื่อมวลชนจะได้เยี่ยมชมหน่วยงานและผลงานของวิทยาเขตตรัง เพื่อการนำข้อมูลข่าวสารออกเผยแพร่ทางสื่อแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายระหว่างสื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต



ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ และรักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย 5 วิทยาเขต แต่ละวิทยาเขตมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ภาพของมหาวิทยาลัยโดยใช้ข้อมูลและสถานที่การจัดกิจกรรมหมุนเวียนกันทุกวิทยาเขตในแต่ละปี เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นการสานสัมพันธ์ทั้งระหว่างบุคลากรผู้ปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง และกับเครือข่ายสื่อมวลชนในส่วนกลางและในพื้นที่ การจัดโครงการนี้ ผู้เข้าร่วมได้นำเยี่ยมชม หลักสูตรการเรียนการสอนที่น่าสนใจของวิทยาเขตตรัง เช่น ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผลงานเด่น ๆ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ทำเพื่อชุมชน เช่น ผลงานวิจัยเส้นทางการท่องเที่ยวในชุมชนย่านเมืองเก่ากันตัง ชุมชนย่านตาขาวหรือย่านตาขาวโมเดล และสัมผัสวิถีชิวิตชาวเลที่ชุมชนบ้านน้ำราบ เป็นต้น เพื่อประชาสัมพันธ์วิทยาเขตตรัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น



หลังจากพิธีเปิดโครงการฯ สื่อมวลชนได้เข้าชมนิทรรศการ และผลงานเด่นหน่วยงาน ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ นครตรัง Innovation City (TRM+ICM+PART+PA), โครงการ U2T, โครงการมูลนิธิชมรมรากแก้ว, การทำ Digital Marketing ให้กับสถานประกอบการ (IDTM+DBIZ), MikroTik, Equity, BE Hall of Frame, Digital Accounting รางวัลสหกิจศึกษา – ACC Microneed, แผ่นเข็มขนาดไมครอนแบบสลายตัวได้, กรรมวิธีการผลิตไบโอแคลเซียม, เจลลี่พร้อมดื่มจากน้ำส้มสายชุหมัก, ผลิตภัณฑ์/สินค้าจากงานวิจัย ของศูนย์แสดงงานวิจัยและนวัตกรรม Research and Innovation Exhibition Center : RIEC (ริเอะ), สหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน, งานพันธกิจเพื่อสังคม, งานบริการวิชาการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, งานพัฒนาการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภาคใต้, ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงโอเลโอเคมีแบบครบวงจร, โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชุมชนและผู้ประกอบการเพื่อยกระดับรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน เกาะแรต จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ผลิตภัณฑ์จากชุมชนภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ Pattani Heritage City วงแหวนพหุวัฒนธรรม โครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี และสถาบัน ขงจื๊อภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์