ข่าวชาวสงขลานครินทร์

พิพิธภัณฑ์ฯ ม.อ. เข้ารับพระราชทานรางวัลดีเด่น Thailand Tourism Silver Awards ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ ประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2566




    พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รศ. ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ เข้ารับพระราชทานรางวัลดีเด่น Thailand Tourism Silver Awards ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 จัดโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานรางวัล ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา



    รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ถือเป็นหัวใจสำคัญในการผนึกกำลังพันธมิตรเพื่อสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน Sustainable Tourism Goals : STGs  มุ่งสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model โดยปีนี้ ททท. ได้เพิ่มประเภทรางวัลการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon & Sustainability) เพื่อตอกย้ำจุดยืนต่อความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ พร้อมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (High Value and Sustainability) ซึ่งรางวัลดังกล่าว จะช่วยสร้างจุดเด่น เพิ่มมูลค่า และเพิ่มโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้และคุณค่าในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกภาคส่วนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างแข็งแรงและยั่งยืนต่อไป



    สำหรับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 มีผู้ประกอบการส่งผลงานสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 908 ราย จาก 5 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย ประเภทแหล่งท่องเที่ยว ประเภทที่พักนักท่องเที่ยว ประเภทการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเภทรายการนำเที่ยว  และประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน

    นับว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของชาวพิพิธภัณฑ์ฯ ม.อ. ตลอดระยะเวลา 15 ปี เรายังคงมุ่งมั่น สร้างสรรค์ ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาด้านธรรมชาติวิทยา เชื่อมโยงฐานข้อมูลทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการอนุรักษ์ และให้ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาของคาบสมุทรไทย แก่เยาวชนและสาธารณชนทั่วไป อีกทั้งเรายังเป็นศูนย์กลางทางวิชาการที่เชื่อมโยงระหว่างนักวิชาการและสาธารณชนที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยทางธรรมชาติวิทยาอีกด้วย พร้อมยังมีกิจกรรมดี ๆ ที่จะมอบให้กับผู้เข้าชมนิทรรศการและผู้ที่สนใจกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง