ข่าวชาวสงขลานครินทร์

รศ. ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. คว้าทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2565




    รศ. ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร หลักสูตรชีววิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับทุนในสาขาชีวภาพ ในงานวิจัย "การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเลเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน" จากการแถลงข่าว โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2565 โดยมีคุณอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและสื่อสารสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นประธาน ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ดิ แอทธินี โฮเต็ล กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 65



โดยโครงการลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในโครงการที่ลอรีอัลให้ความสำคัญในการดำเนินงานทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญและเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นอกจากต้องใช้ความมานะอุตสาหะในการคิดค้นและวิจัยแล้ว ยังต้องการมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่กว้างขึ้น และสตรีจะมีบทบาทสำคัญในการเปิดมุมมองใหม่ๆ ได้ ทางลอรีอัลจึงเชื่อว่า โลกต้องการวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรี 



    สำหรับงานวิจัย "การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเลเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน" ของ รศ. ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร ได้วิจัยเกี่ยวกับหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ จัดเป็นหนึ่งในระบบนิเวศคาร์บอนสี ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แหล่งหญ้าทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้สูง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ทว่าปัจจุบันพื้นที่หญ้าทะเลที่สมบูรณ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยมีโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลมายาวนาน แต่ก็ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมและติดตามระยะยาวอย่างเป็นระบบ



    งานวิจัยนี้นับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านนิเวศสรีรวิทยาเพื่อเพิ่มความสำเร็จในการฟื้นระบบนิเวศหญ้าทะเล ทีมวิจัยเลือกศึกษาเปรียบเทียบพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์และแหล่งหญ้าทะเลที่มีโครงการพื้นฟู โดยมุ่งเน้นศึกษาหญ้าคาทะเล ซึ่งมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนสูงและเป็นหนึ่งในชนิดหลักที่ใช้พื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในประเทศไทย ผลการศึกษาจากงานวิจัยนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล ช่วยระบุสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงปัจจัยคุกคาม เพื่อเพิ่มโอกาสและความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล นำไปสู่การลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนต่อไป



    นอกจากนี้ การฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเลยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพราะไม่เพียงจะเพิ่มศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ แต่ยังนำไปสู่การเพิ่มแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเล การรักษาระดับธาตุอาหารในน้ำและการลดการกัดเซาะชายฝั่ง อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการระดับนานาชาติ สามารถนำไปต่อยอดการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป