ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.สงขลานครินทร์ จัดตั้ง ศูนย์อาสาสมัคร พัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีความสามารถในการพัฒนาชุมชน




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระดมสมองคณะ และหน่วยงาน พิจารณาแผนยุทธศาสตร์ ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในโอกาสที่ศูนย์อาสาสมัคร ได้รับการจัดตั้งจากสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรใหม่สังกัดสำนักงานอธิการบดี พร้อมดำเนินงานโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยต่อเนื่อง



    โอกาสนี้ ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวให้นโยบาย ด้านอาสาสมัคร เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ว่า “ให้ทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยไม่เน้นการเรียนการสอนอย่างเดียว เน้นสร้างทีมงาน และพัฒนานักศึกษา พร้อมทั้งพัฒนาคนในชุมชน ทิศทางในการทำงานให้ยึดหลัก การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีตัวชี้วัดเพื่อให้มีผลกระทบที่ดีต่อชุมชน”



วันที่ 22 เมษายน 2564 ผศ. ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมจิตสาธารณะ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์อาสาสมัคร กล่าวว่า ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้เป็นองค์กรสังกัดสำนักงานอธิการบดี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 โดยมีภารกิจหลักคือ งานบัณฑิตอาสาพัฒนาสังคม มีคุณวัลภา ฐาน์กาญจน์ เป็นหัวหน้างาน และงานพัฒนาอาสาสมัคร มีคุณรชดี้ บินหวัง เป็นหัวหน้างาน 



    ศูนย์อาสาสมัครได้ดำเนินโครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีระยะเวลาปฏิบัติงานในชุมชน 1 ปี ทำงานในชุมชนต่างพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิต ให้มีความสามารถในการพัฒนาชุมชน พัฒนาบทบาทมหาวิทยาลัยให้สามารถทำงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง ได้ดำเนินงานครบ 15 รุ่น รวมบัณฑิตอาสาที่จบไปแล้ว 258 คน



นอกจากนี้มี ศูนย์อาสาสมัคร ดำเนินภารกิจพิเศษในด้านการสนับสนุนจิตอาสาพระราชทาน 904 มีการจัดทำแผนปฏิบัติงานปี 2564 ร่วมกับจิตอาสา 904 ทุกรุ่น ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ 14 จังหวัด รวมทั้งอบรมจิตอาสาพระราชทานแก่นักศึกษา บุคลากร และร่วมกิจกรรมกับหน่วยแพทย์ ในมูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)



    และโครงการบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด (โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโครโรนา 2019) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท /คน ทั้ง 2 ระยะ รวม 800 ตำแหน่ง ระยะเวลาดำเนินการ ระยะแรก 4 เดือน (26 พฤษภาคม - 26 กันยายน 2563) ระยะที่สอง 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน 2563) บัณฑิตอาสา ทำหน้าที่ 1. รวบรวมข้อมูล 2. งานด้านวิเคราะห์และจัดทำแผน 3. งานด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี



    สรุปผลการดำเนินงาน บัณฑิตได้รับการจ้างงานทั้งสองระยะ จำนวน 774 คน จากยอดผู้สมัคร 3,547 คน จากสถาบันกว่า 20 สถาบัน ในความรับผิดชอบของทั้ง 5 วิทยาเขต ดังนี้ วิทยาเขตภูเก็ต 60 คน วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี 100 คน วิทยาเขตหาดใหญ่ 196 คน วิทยาเขตตรัง 40 คน และวิทยาเขตปัตตานี 378 คน



    หลังจากเกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 งานพัฒนาอาสาสมัครได้ปรับแผนการดำเนินงานให้สอดรับกับสถานการณ์ เนื่องจากนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต้องปฏิบัติตามประกาศของมหาวิทยาลัยที่ไม่อนุญาตให้มีการรวมตัวกัน งานพัฒนาอาสาสมัครจึงต้องปรับแผนการดำเนินงานจิตอาสาเน้นร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น อาทิ สถานีวิทยุ ม.อ. สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสา ม.อ. สมาคมอาสาสร้างสุขภาคใต้ สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม ศูนย์อาสาสร้างสุขและกู้ชีพกู้ภัยมัชฌิมา หาดใหญ่ สมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา เครือข่ายเยาวชนพัฒนาศักยภาพเพื่อการพัฒนาชุมชนภาคใต้ เครือข่ายจิตอาสา ฯลฯ



    สำหรับแผนการดำเนินงานของศูนย์อาสาสมัคร  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในระยะต่อไป ศูนย์ฯ ได้รับอนุมัติโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จำนวน 8 ตำบล ใน 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ตรัง และสงขลา จะเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 - 31 ธันวาคม 2565 เป็นระยะเวลา 11 เดือน พร้อมบูรณาการแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างงานพัฒนาอาสาสมัคร และงานบัณฑิตอาสา ให้เอื้อต่อการทำงานเพื่อสนองปัญหาและวิกฤติของสังคมที่เกิดขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษา บุคลากร ตลอดจนผู้เกษียณ ให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น