ข่าวชาวสงขลานครินทร์

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ม.อ. เปิดบ้าน ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องสัตว์ดึกดำบรรพ์ลึกลับจากยุคไทรแอสซิก




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี และศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. ภาคใต้ จัดโครงการ Open House ปี 2565 ตอน “สัตว์ดึกดำบรรพ์ลึกลับจากยุคไทรแอสซิก ที่ถูกค้นพบจากจังหวัดพัทลุง สู่การตีความครั้งใหม่” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องสัตว์ดึกดำบรรพ์ลึกลับจากยุคไทรแอสซิกให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป สนับสนุนให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นสะท้อนแง่มุมของตนเองต่อการเรียนรู้ธรรมชาติวิทยา ตลอดจนเปิดโอกาสให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และสนุกเพลิดเพลินจากการร่วมกิจกรรม ในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 





    ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ความลับแห่งท้องทะเลโบราณของพัทลุง และ Ichthyosaur ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก” โดยมีผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.กิตติชัย ทองเติม อาจาร์วิจัยประจำพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นวิทยากร ในการให้ความรู้ ซึ่งในปี พ.ศ. 2534 คณะนักวิจัยด้านสัตว์มีกระดูกสันหลังจากประเทศฝรั่งเศสและคณะนักวิจัยชาวไทย จากกรมทรัพยากรธรณี ได้เข้าร่วมตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลื้อยคลานในทะเลโบราณ (Ichthyopterygia) ที่พบบริเวณหลังวัดภูเขาทอง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างแรงกระเพื่อมให้แก่โลกของนักบรรพชีวินด้านสัตว์เลื้อยคลานในทะเลในกลุ่ม Ichthyopterygia เพราะมีเพียงไม่กี่แห่งในโลกใบนี้ที่มีรายงานพบซากของโครงกระดูกของพวกมันในช่วงต้นยุคไทรแอสซิก ในครั้งนั้นทีมวิจัยคณะดังกล่าวได้ตั้งชื่อให้เป็นชนิดใหม่ทางวิทยาศาสตร์ว่า Thaisaurus chonglakmanii Mazin et al., 1991 โดยอายุที่แน่นอนของสัตว์เลื้อยคลานในทะเลโบราณยังคงเป็นปริศนา เพราะยังขาดข้อมูลซากดึกดำบรรพ์ดรรชนีที่จะใช้ช่วยบอกอายุ แต่ในเวลาต่อมา ดร. กิตติชัย ทองเติม ได้ไขความกระจ่างของอายุ Thaisaurus chonglakmanii Mazin et al., 1991 ด้วยการใช้แอมโมนอยด์บอกอายุ และทำให้ทราบว่าสัตว์เลื้อยคลานในทะเลโบราณที่พบบริเวณหลังวัดภูเขาทองนั้นเป็น Ichthyopterygi เก่าแก่ที่สุดในโลก 



    นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการชั่วคราวให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นตัวอย่าง “ฟอสซิล” ที่มีความสำคัญกับการศึกษาซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลื้อยคลานในทะเลโบราณ (Ichthyopterygia) ที่พบบริเวณหลังวัดภูเขาทอง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เยี่ยมชมและเรียนรู้นิทรรศการใหม่ๆ ที่ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ปรับปรุง ในช่วงที่ผ่านมา มีการบรรยายนิทรรศการโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ฯ รวมถึงกิจกรรม Interactive ที่ให้ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วมเล่นเกมและเรียนรู้นิทรรศการ ทั้งยังมีกิจกรรมพิเศษสอนวาดภาพการ์ตูนอะนิเมะ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการวาดภาพ โดยเยาวชนและบุคคลทั่วไปจะได้เข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ ประสบการณ์ และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในรูปแบบที่แปลกใหม่ สนุกสนาน ซึ่งจะก่อให้เกิดทัศนคติเชิงบวกแก่ธรรมชาติวิทยามากยิ่งขึ้น