ข่าวชาวสงขลานครินทร์

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : 30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน โดย ม.อ. ร่วมนำเสนองานวิจัยภายใต้โครงการ อพ.สธ.




    เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 11 ทรัพยากรไทย : 30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน โดยมี รศ. ดร.ศุภศิลป์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เฝ้าฯ รับเสด็จ และ รศ. ดร.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทูลเกล้าฯ ถวายของแด่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี



    การประชุมวิชาการของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ. สธ. นี้ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 11 ปีนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพจัดงาน ระหว่างวันที่ 19 - 24 กันยายน 2565 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานในงานอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ และเปิดโอกาสให้เยาวชน ประชาชน นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่กำหนดนโยบายได้รับรู้และตระหนักถึงความหลากหลายแห่งศักยภาพของทรัพยากรไทย



    โอกาสนี้ ทรงทอดพระเนตรการแสดงชุด “คีตาขับขานตำนานเมืองนคร” จากนั้นนายพรชัย จุฑามาศ กราบบังคมทูลเบิกฯ ผู้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบทุนมูลนิธิ อพ.สธ. พระราชทานเกียรติบัตรงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ขั้นที่ 1 ป้ายสนองพระราชดำริในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และป้ายสนองพระราชดำริในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น และทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 11



    ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ร่วมจัดนิทรรศการงาน อพ.สธ. ของมหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอนิทรรศการโดยรวบรวมผลงาน จากการดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการ อพ.สธ. ที่มหาวิทยาลัยดำเนินงาน ย้อนหลัง 15 ปี ซึ่งครอบคลุมทรัพยากรพืช สัตว์ ชีวภาพอื่นๆ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตเด่นในพื้นที่นั้นๆ โดยเน้นไปที่ทรัพยากรท้องถิ่นเกาะพระทอง ทรัพยากรชีวภาพชนิดใหม่ของโลก ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านท่าศาลา ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมภาคใต้ สมุนไพรและตำรับยารักษาโรคต่างๆ



ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
Facebook Page : ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
Website : https://rspg.wu.ac.th/