ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ร่วมกับ กยท. จัดกิจกรรม Pitching and Exhibition ประกวดนวัตกรรมยางพารา เดินหน้าปั้น startup รุ่นใหม่




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม Pitching and Exhibition ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการกิจการยางไปสู่การเป็น Startup ด้านยางพารา ประจำปี 2565 (Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU) โดยมี นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับ นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทํางาน และผู้เข้าร่วมโครงการ เข้าร่วมงาน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 65



นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรม Natural Rubber เป็นการสร้างมิติใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา สร้างกระบวนการ และระบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราจากความรู้ เทคโนโลยี และงานวิจัย การสร้างกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมโครงการผ่านกิจกรรมการคัดเลือก การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการให้คําปรึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ นอกจากจะทําให้ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าแล้ว ยังกระตุ้นให้คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ มีความตื่นตัวในการพัฒนางานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมมากขึ้น ทําให้เห็นว่าประเทศไทยยังสามารถมีอาชีพอีกหนึ่งอาชีพ คือ นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งล้วนแล้วแต่จะสร้างการพัฒนาวงการยางพาราให้ประเทศไทย



ด้าน ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในการสร้างกลไกการส่งเสริม บ่มเพาะ startup เฉพาะทาง (ด้านยางพารา) โดยใช้จุดแข็งของทั้งสองหน่วยงานเสริมกัน ทำให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมมาต่อยอดในการประกอบธุรกิจในการแข่งขันกับโลกอนาคต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านยางพาราและศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในหลากหลายมิติ มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ เผยแพร่มากมาย และที่สำคัญมีความเชี่ยวชาญด้านการเป็นที่ปรึกษาให้แก่ Startup SMEs กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อการก้าวสู่โลกธุรกิจได้อย่างยั่งยืน 



ขณะที่ นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร ชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางไปสู่การเป็น Startup ด้านยางพารา ประจําปี 2565 (Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีความรู้ ความเข้าใจ มีประสบการณ์ในด้านการวางแผน การพัฒนา และการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ การตลาด การเจรจาซื้อขาย การค้า การลงทุน การใช้เทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานด้านยางพารา สามารถพัฒนาแนวคิดสู่ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีการพบปะและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อสร้าง Startup ยางพารา ส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มของยางพาราทุกห่วงโซ่ในอุตสาหกรรมยางพารา และเกิดประโยชน์ต่อประเทศ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model



    การจัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางไปสู่การเป็น Startup ด้านยางพารา ประจําปี 2565 ได้ดําเนินการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 / คัดเลือกผลิตภัณฑ์โดยดูจากความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ และแผนธุรกิจ และประกาศผลรอบแรก เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 โดยแบ่งผู้เข้าร่วมโครงการเป็น 4 โปรแกรม ตามความพร้อมของแต่ละทีม ได้แก่ 1. โปรแกรม Design Contest (I2D) การพัฒนาชิ้นงานจากงานวิจัยต้นแบบ 2. โปรแกรม Idea to Prototype (I2P) การมีไอเดีย/แนวคิดธุรกิจเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพารา 3. โปรแกรม Product to Market (P2M) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพาราเข้าสู่ตลาด 4. โปรแกรม Product to Global Market (P2GM) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราที่อยู่ในตลาดเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ


    
    จากนั้นมีการถ่ายทอดความรู้ บ่มเพาะ ต่อยอดผลิตภัณฑ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่วันที่10 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา โดยการพัฒนาเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม และให้ผู้เชี่ยวชาญเจาะลึกในแต่ละผลิตภัณฑ์ หรือ One on one Coaching รวมกว่า 270 ชั่วโมง อีกทั้งยังสนับสนุนงบประมาณพัฒนาผลิตภัณฑ์ งบประมาณในการทดสอบ รวมถึงเงินรางวัลมูลค่ารวม 1,740,000 บาท จากนั้นมีการคัดเลือกทีมที่พร้อมในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีทั้งสิ้น 34 ทีม และในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 เป็นการตัดสินและประกาศผล โดยทีมที่ชนะเลิศแต่ละประเภทได้รับเงินรางวัล พร้อมเกียรติบัตร และมีโอกาสในการสนับสนุนแหล่งทุน การเชื่อมโยงจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต่อไป