ข่าวชาวสงขลานครินทร์

สงขลานครินทร์ คว้าสุดยอดโมเดลธุรกิจออนไลน์ ระดับประเทศ ทั้งรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับ 1 ประจำปี 2565 จัดโดย ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม




    นักศึกษาและบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทีม This heart for The Community (หัวใจดวงนี้เพื่อชุมชน) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คว้าสุดยอดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน ระดับประเทศ และทีม DO PRO จากวิชาเอกการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คว้าชัยรองแชมป์ระดับประเทศ 



    โดยการสนับสนุนและขับเคลื่อนจาก สำนักทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาโค้ชดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจออนไลน์ชุมชน (ภาคใต้) มี ผศ. ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า รองผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม เป็นที่ปรึกษา จากการประกวดไอเดียธุรกิจ จัดโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) ในกิจกรรม “Craft Idea” สร้างสรรค์ธุรกิจออนไลน์ สร้างรายได้ ชุมชนยั่งยืน ณ ทรูดิจิทัล พาร์ค เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เสนอแนวคิด โมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ นำสินค้า บริการชุมชนสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล สร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ผลการตัดสินมี ดังนี้



ทีม This heart for The Community (หัวใจดวงนี้เพื่อชุมชน) นักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย 1. นายธกร กำเหนิดผล ศิษย์เก่าคณะอุตสาหกรรมเกษตร 2. นางสาวพัฒน์นรี รุ่งวีรธรรม ศิษย์เก่าคณะการแพทย์แผนไทย 3. นางสาวอาอิชาฮ์ มามุอุมา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร



ทีม DO PRO นักศึกษา วิชาเอกการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย 1. นายปัฐทวีกานต์ แซ่เตีย 2. นางสาวพรรณนิภา นิลรัตน์ 3. นายอนิวัฒน์ สังคหพงค์ โดยมี อาจารย์ลภัสวัฒน์ ศุภผลกุลนันทร์ ประธานวิชาเอกการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร



ทีม Poison angels จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร 



หลักเกณฑ์การตัดสินในรอบชิงชนะเลิศ เป็นคะแนนจากการนำเสนอ (Pitching), ความเป็นไปได้ของการทำการตลาด การดำเนินการได้จริงของแผนงาน รวมไปถึงการตอบโจทย์ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ทุกทีมได้นำเสนอผลงานแผนธุรกิจรวมถึงแนวคิดในการเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนมาเป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์แผนธุรกิจ ในเวลา 5 นาที ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 ท่าน ได้แก่ คุณอัจฉริยา เจริญศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), คุณรัชวุฒิ พิชยาพันธ์ CEO & CO-FOUNDER FIXZY แอปพลิเคชันจัดหาช่างเพื่อ ซ่อมแซมบ้าน, ดร.ณัฐพล ประดิษฐผลเลิศ กรรมการและกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, อาจารย์กิตติศักดิ์ คุณาฤทธิพล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) และคุณอัจฉราพร หมุดระเด่น ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร และหัวหน้าสถาบัน ADTE by ETDA 



โดยผู้เข้าแข่งขันจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ละทีมจะต้องรวมกลุ่มกันไม่เกินทีมละ 3 คน และสมาชิกในทีมจะต้องมีอายุระหว่าง 18-36 ปี  มีผู้ร่วมสมัครแข่งขันถึง 96 ทีม ก่อนที่คณะกรรมการจะทำการพิจารณาคัดเลือกอย่างเข้มข้น จนได้ 11 ทีมสุดท้าย  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนไทยได้จริง โดยในปีต่อไป ETDA วางแผนในการขยายโอกาสและการดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และจะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง