ข่าวชาวสงขลานครินทร์

อาจารย์ตัวอย่างดีเด่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2564




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คัดเลือกอาจารย์ตัวอย่างดีเด่น อาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่น เป็นประจำทุกปี เพื่อประกาศเกียรติคุณอาจารย์ตัวอย่างดีเด่นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ อุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัยและประพฤติตนดีงามเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยอาจารย์ตัวอย่างดีเด่น จะเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่น และอาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่น อาจารย์ดีเด่น กองทุนเอกิ้น เลาเกเซ่นอนุสรณ์ ประจำปี 2564 ดังนี้



รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ. อังคณา เธียรมนตรี คณะทันตแพทยศาสตร์
อาจารย์ตัวอย่างดีเด่น ด้านบริการวิชาการ
รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.อังคณา เธียรมนตรี เป็นผู้นำในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพช่องปากในภาคใต้ในเรื่อง “เด็กใต้ไม่กินหวาน” ภายใต้เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน อย่างจริงจังมากกว่า 15 ปี โดยมี โครงการมากกว่า 400 โครงการ มีทันตบุคลากรและบุคลากรอื่นๆ เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,000 คน มีกลุ่มเป้าหมายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับประโยชน์มากกว่า 70,000 คน ซึ่งเป็นผลงานที่โดดเด่น สร้างการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของภาคใต้ เป็นแกนนำสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในการเพิ่มความเข้มข้นของยาสีฟันผสมฟลูออไรด์จากเดิม 1,000 ส่วนในล้านส่วนเป็น 1,500 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ลดโอกาสการเกิดฟันผุได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 ในประชาชนทั่วไป



รองศาสตราจารย์ ดร.นิธินาถ แซ่ตั้ง คณะวิทยาศาสตร์
อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการเรียนการสอน
รองศาสตราจารย์ ดร.นิธินาถ แซ่ตั้ง ได้มุ่งมั่นปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน สร้างแนวทางการสอนเชิงรุกที่หลากหลาย เช่น การจัดทําชุดการทดลองสําเร็จรูป (Experimental kits) และได้จัดส่งชุดการทดลองแก่ศิษย์ถึงบ้าน เพื่อสร้างการเรียนรู้การปฏิบัติจริงและทันสมัยแก่ศิษย์ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการประยุกต์ใช้และการประเมินผลของการเรียนการสอนด้วยเทคนิคและวิธีการออนไลน์ และได้รับการแต่งตั้งให้ได้รับ PSU-TPSF ระดับวิชชาจารย์และยังรับบทบาทในการแนะนําเทคนิคการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ๆ ให้กับคณาจารย์ในสาขาวิชา รวมถึงการเป็นผู้นําในการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเรียนการสอนกับคณาจารย์ในสาขาวิชาอีกด้วย



รองศาสตราจารย์ ดร.ประณีต ส่งวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์
อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการวิจัยและนวัตกรรม สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
รองศาสตราจารย์ ดร.ประณีต ส่งวัฒนา เป็นผู้ก่อตั้งสถานวิจัยและศูนย์วิจัยเพื่อการดูแลและเยียวยาผู้บาดเจ็บฉุกเฉินและสาธารณภัย โดยริเริ่มจากสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ พร้อมทั้งขยายองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์มานานเกือบ 10 ปี ในฐานะผู้บริหารแผนงานวิจัย สร้างศักยภาพของผู้ร่วมงาน ได้แก่ อาจารย์ นักศึกษา และพยาบาลผู้ปฎิบัติงานวิจัย รวมทั้งส่งเสริมนักศึกษาในหลักสูตรต่างๆของมหาวิทยาลัยในการร่วมเรียนรู้และทำงานเป็นทีม สามารถพัฒนาเครือข่ายวิจัยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ  



รองศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม
รองศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ แสงทอง ได้มุ่งมั่นดําเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรการเรียนในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ผลักดันการสร้างสรรค์ผลงานของนักศึกษา โดยมีผลงานเข้ารอบวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (ซีไรต์) รวมถึงการบริการวิชาการแก่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย ให้ความสําคัญกับการเผยแพร่องค์ความรู้และการประยุกต์ใช้ศิลปวัฒนธรรมที่เน้นอัตลักษณ์ของชุมชน การประยุกต์ใช้ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านการสร้างแบรนด์สินค้าชุมชน การรื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมขึ้นมาสร้างสีสันใหม่ และใช้สื่อสมัยใหม่ ทำให้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่มากขึ้น



รองศาสตราจารย์ ดร.วรากร ลิ่มบุตร คณะวิทยาศาสตร์ 
อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการวิจัยและนวัตกรรม
รองศาสตราจารย์ ดร.วรากร ลิ่มบุตร เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม สามารถสร้างงานวิจัยใหม่ๆ เสริมสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการที่มีคุณค่าสูงในวงวิชาการ มีผลงานที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการระดับนานาชาติ มีผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่พัฒนาขึ้นจํานวน 71 ผลงาน เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการเตรียมการสอน และการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษารวม 23 ผลงาน ซึ่งนํามาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้องและเหมาะสมแก่เด็กนักศึกษายุค GenZ และสนับสนุนให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเขียนสิทธิบัตร รวมไปถึงด้านการเสริมสร้างเทคนิคการนําเสนอผลงานในที่ประชุมวิชาการ 



อาจารย์ต่วนยามีลา อัลอิดรุส คณะศึกษาศาสตร์ 
อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านกิจการนักศึกษา
อาจารย์ต่วนยามีลา อัลอิดรุส ทุ่มเทการทํางานให้แก่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะศึกษาศาสตร์ โดยปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบงานกิจกรรมและวินัยของนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีบทบาทสาคัญ ในการขับเคลื่อนปรัชญาและอุดมการณ์ “ปัญญาดี มีคุณธรรม สร้างสรรค์สังคม” และควานิยม “SATIT PSU” กํากับดูแลงานกิจกรรมนักเรียน อาจารย์ที่ปรึกษาคณะกรรมการนักเรียน งานส่งเสริมประชาธิปไตย งานส่งเสริมสวัสดิภาพ งานบําเพ็ญประโยชน์และจิตอาสา และการให้คําปรึกษา ส่งเสริมและพัฒนานักเรียน ให้มีลักษณะอันพึงประสงค์และสร้างประโยชน์แก่สังคม



ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงอรุณี เดชาพันธุ์กุล คณะแพทยศาสตร์
อาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่น 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงอรุณี เดชาพันธุ์กุล มีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติ นําองค์ความรู้ใหม่มาประยุกต์ใช้ได้จริงกับผู้ป่วย เป็นผู้มีความชำนาญในสาขามะเร็งวิทยา เป็นที่ยอมรับให้ตรวจประเมินงานวิจัยของแพทย์ประจําบ้านจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ และมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ไปแล้วทั้งสิ้น 23 ผลงาน เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการพัฒนาระบบ electronic consultation (E-consult) ซึ่งเป็นโปรแกรมให้คําปรึกษา และส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งจากโรงพยาบาลในภาคใต้มาเพื่อรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ลดค่าใช้จ่ายในการมาพบแพทย์ลงประมาณร้อยละ 50 อีกทั้งยังช่วยให้เข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น เป็นการสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในภาคใต้ ทั้งนี้โปรแกรม E-consult ได้การรับรองคุ้มครองลิขสิทธิ์จากสํานักลิขสิทธิ์แล้ว



รองศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ สันป่าเป้า คณะทรัพยากรธรรมชาติ 
อาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่น
รองศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ สันป่าเป้า เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ เพื่อนํามาศึกษาเป็นงานวิจัยได้อย่างสมํ่าเสมอ รวมถึงช่วยสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาให้กับอาจารย์อื่นๆ ในการทําวิจัยในปัจจุบัน มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ 45 ผลงาน มีความชํานาญในสาขาวิชาโรคพืชวิทยา โดยได้ค้นพบโรคอุบัติใหม่ของพืชและหาแนวทางในการควบคุมป้องกันโรคอุบัติใหม่เหล่านั้นด้วยการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในการผลิตชีวภัณฑ์ทางการเกษตร โรคอุบัติใหม่ที่ร่วมกับนักวิจัยค้นพบเป็นรายแรกของโลกคือโรคใบร่วงยางพารา นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับโรคและการควบคุมโรคพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด 



ศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี วงษ์วิฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผู้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่น กองทุนเอกิ้น เลาเกเซ่นอนุสรณ์
ศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี วงษ์วิฑิต เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านการสอน มีความสามารถสอนได้หลายวิชาทั้งในระดับปริญญาตรีโท และเอก มีผลงานด้านตําราและบทความ บทความทางวิชาการ ตํารา รวมถึงเอกสารประกอบการบรรยายชั้นปริญญาโท และปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มากกว่า 20 เรื่อง มีผลงานวิจัย 37 เรื่อง ได้รับการยอมรับให้เป็นที่ปรึกษาในงานวิจัยของคณาจารย์ เป็นคณะทํางาน ยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายละเมิด รวมทั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสํานักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์