ข่าวชาวสงขลานครินทร์

สงขลานครินทร์ ลงนาม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) นำโดย นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาการศึกษาวิจัยและบริการวิชาการ ด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 65 ณ ห้องประชุมอินทนิล (301) ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน



นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา เพื่อการศึกษาวิจัยและบริการวิชาการ ให้เกิดผลประโยชน์ในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางด้านอากาศ อาทิ โครงการศึกษาวิจัยและออกแบบหอฟอกอากาศลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และกรณีศึกษา ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม



ด้าน ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาและความรู้ทางวิชาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาคการศึกษาและการวิจัยของประเทศ โดยจะร่วมมือกัน ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาเพื่อการศึกษาวิจัยและบริการวิชาการให้เกิดผลประโยชน์ในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย เครือข่ายนักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเฉพาะคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม และคณะที่เกี่ยวข้อง และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย นักวิจัย นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง



    ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนดำเนินงานวิจัยในการช่วยลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้การส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา เพื่อการศึกษาวิจัย และบริการวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ขยายผลออกไปในวงกว้าง นำไปสู่การฟื้นฟูอากาศและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ดีขึ้น ลดงบประมาณด้านสาธารณสุข และช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ อันจะนำไปสู่ความสมดุลแห่งชีวิตของคนในสังคมเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป