ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ปูน้ำจืดที่พบในถ้ำประเทศไทย - เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือของนักวิจัย ม.อ. ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Edaphologia




    จากงานวิจัยความหลากหลายของปูในถ้ำหินปูนของภาคเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย ของนายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิทยาศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษาสยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ การสำรวจเพิ่มเติมของ ผศ. ดร.โสภาค จันทฤทธิ์ สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งศึกษาแมลงหางดีดถ้ำทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคอีสาน ทำให้ได้ข้อมูลชนิดปูจากถ้ำในพื้นที่ต่างๆ ผนวกกับการรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในถ้ำโดย Mr. Martin Ellis ผู้เชี่ยวชาญและนักสำรวจถ้ำจาก Shepton Mallet Caving Club สหราชอาณาจักร ทำให้เกิดการรวบรวมข้อมูลชนิดปูน้ำจืดที่พบในถ้ำทั้งในประเทศไทยและเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นเป็นครั้งแรก ตีพิมพ์ผลงานลงในวารสาร Edaphologia



สำหรับชนิดของปูน้ำจืดที่พบในถ้ำในประเทศไทย จากการรวบรวมรายงานการพบในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 16 ชนิด จาก 14 สกุล และ 2 วงศ์ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชนิดที่ประชากรโดยทั่วไปอาศัยอยู่ภายนอกถ้ำ แต่มีการปรับตัวเข้าไปใช้ถ้ำเป็นแหล่งหลบภัยและแหล่งหากิน โดยยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นสัตว์ถ้ำแท้ (troglobite หรือ stygobite) โดยมีบางชนิดที่มีลักษณะที่ผ่านการวิวัฒนาการให้อาศัยอยู่ในถ้ำได้เป็นอย่างดีด้วยลักษณะของขาที่เรียวยาวมาก กระดองค่อนข้างแบน และมีด้านบนแบนราบ ได้แก่ ปูถ้ำอาจารย์ไพบูลย์ (Phaibulamon stilipes) ปูเขาหินปูนอาจารย์สุรพล (Kanpotamon duangkhaei) ปูถ้ำพิทักษ์ (Thampramon tonvuthi) ปูเขาหินปูนสตูล (Terrapotamon longitarsus) และ ปูเขาหินปูนทุ่งหว้า (T. thungwa) ซึ่งอาศัยลักษณะพิเศษนี้ในการปีนป่ายหิน และแทรกตัวผ่านรอยแตกของหินปูนเข้าไปในถ้ำได้ ปูเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า troglophile หรือ stygophile ในชนิดของไทยดังกล่าวนี้ การค้นพบปูเขาหินปูนอาจารย์สุรพลนับเป็นการรายงานการพบครั้งที่ 2 หลังจากที่มีรายงานครั้งแรกเมื่อเมื่อปี พ.ศ. 2536 ส่วนภาพรวมในประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมที่พบในประเทศไทยสามารถรวบรวมรายชื่อปูน้ำจืดที่พบในถ้ำได้ทั้งสิ้น 70 ชนิด จาก 36 สกุล และ 3 วงศ์ โดยมีจำนวนชนิดที่พบในประเทศฟิลิปปินส์ และมาเลเซียประเทศมากที่สุดประเทศล่ะ 17 ชนิด ซึ่งนับว่าประเทศไทยก็มีรายงานจำนวนชนิดไม่แตกต่างกันมากนัก




    อย่างไรก็ตาม ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีแหล่งถ้ำหินปูนอีกมากมายที่ยังไม่ถูกสำรวจ หรือแม้แต่มีการสำรวจแล้วแต่ยังไม่ละเอียดทั่วถึงและไม่ครอบคลุมฤดูกาล ทำให้คาดว่ายังคงมีชนิดปูที่อาศัยในถ้ำตกสำรวจอีกหลายชนิด ทั้งที่เป็นปูถ้ำแท้และที่ใช้ถ้ำเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว การสำรวจและศึกษาวิจัยปูถ้ำของนายเรืองฤทธิ์ และ ผศ. ดร. โสภาค จึงยังไม่สิ้นสุดที่บทความตีพิมพ์ฉบับนี้ ล่าสุดจากการสำรวจอุโมงค์ในเขาหินปูนใน จ.กาญจนบุรี ได้พบปูน้ำจืดที่มีลักษณะขาเรียวยาวเพิ่มเติมอีกชนิดภายในอุโมงค์ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากชนิดที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่เดียวกัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบทางอนุกรมวิธานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านปูน้ำจืดชาวสิงคโปร์



บทความที่ได้รับการตีพิมพ์
Promdam, R., Ellis, M. and Jantarit, S. 2022. Brachyuran crabs (Crustacea: Decapoda) in the limestone caves of Thailand, with a checklist of freshwater cave-dwelling crabs in Southeast Asia. Edaphologia, 110: 1–17.