ข่าวชาวสงขลานครินทร์

Fudan University จีน หนุนอุปกรณ์จัดตั้งห้องเรียนทางไกล “Remote Lancang-Mekong Classroom” แก่ ม.อ.ตรัง




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง รับมอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการจัดตั้งห้องเรียนทางไกล หรือ Remote Lancang-Mekong Classroom จาก Fudan University สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นห้องเรียนที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย รองรับการเรียนการสอน การประชุมสัมมนาและกิจกรรมวิชาการอื่นๆ สำหรับนักศึกษา คณาจารย์ ตลอดจนผู้สนใจในกิจกรรมระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการร่วมกับ Fudan University เช่น โครงการ Youth Innovation Competition on Lancang-Mekong Region’s Governance and Development (YICMG) เป็นต้น



รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นตัวแทนประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกเพื่อจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเยาวชนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Lancang-Mekong Youth Exchange and Cooperation Center ที่วิทยาเขตตรัง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้ง ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของ Fudan University และมหาวิทยาลัยจากประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง อีก 4 แห่ง ตั้งแต่ปี 2019



Fudan University เป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงเป็นอันดันต้นๆ ของประเทศจีน โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ Fudan University มีความร่วมมือทางวิชาการ และการสนับสนุน Student Mobility ระหว่างสองมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรร่วม 3+1 ระหว่าง Fudan University สาขาภาษาจีน กับ คณะศิลปศาสตร์ Clinical Elective Program กับ คณะแพทยศาสตร์ โครงการ Youth Innovation Competition on Lancang-Mekong Governance Development (YICMG) และกิจกรรมภายใต้ Lancang-Mekong Youth Exchange and Cooperation Center เช่น โครงการ Lancang-Mekong Youth Online workshop และโครงการ Online Teaching Forum เป็นต้น ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการสะท้อนด้านวิชาการ การเรียนการสอน และกิจกรรมส่งเสริมสมรรถนะของนักศึกษาอันแน่นแฟ้นระหว่างสองมหาวิทยาลัย



“ห้องเรียน Remote Lancang-Mekong Classroom จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักศึกษา และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมทางไกล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการและเชิงวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างความร่วมมือแบบข้ามพรมแดน (cross border cooperation) ระหว่างคณาจารย์และเยาวชน ของสถาบันอุดมศึกษาใน 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ประเทศจีน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และประเทศไทย” รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล กล่าว