ข่าวชาวสงขลานครินทร์

สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. แสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมยางพารา ผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์สู่ตลาดโลก




    สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. (Rubber Innovation Research Institute) จัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมยางพาราที่หน้าจับตา ผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์สู่ตลาดโลก มีเป้าหมายในการผลักดันองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในเวทีนานาชาติ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี ณ อาคารทรัพยากรการเรียนรู้ (LRC) ตั้งแต่วันนี้ -31 มกราคม 2565  



    “วิจัยและนวัตกรรมยางพาราเป็นบริบทที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต้องทำทั้งระบบและปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้ การส่งเสริมการนำองค์ความรู้ด้านยางพาราทั้งระบบจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถ่ายทอดต่อชุมชน สังคม” รศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุปราณี ผู้อำนวยการสถาบันสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. กล่าวในโอกาสครบ 10 ปีของสถาบันฯ โดยสถาบันฯ ได้จัดนิทรรศการย่อย แสดงผลงานนวัตกรรมจากยางพารา แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มงาน ได้แก่ 1. คุณค่าใหม่ของกลุ่มงานเทคโนโลยียางต่อการใช้ประโยชน์รูปแบบใหม่ 2. แก่นเทคโนโลยี (core technology) ใหม่ในรูปแบบหนึ่งเทคโนโลยีหลายผลิตภัณฑ์ 3. เทคโนโลยีเชิงลึก (deep technology) มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานเพื่อประโยชน์ในการใช้ในอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต 



โดยภารกิจของสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มุ่งเน้นด้วยกัน 5 ด้าน ได้แก่ 1. การเป็นเลิศด้านวิจัยเรื่องยางพาราในระดับนานาชาติ ครอบคลุมตั้งแต่พันธุ์ยางพารา การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน การแปรรูปต่างๆ ผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก เผยแพร่ในวารสารที่นานาชาติยอมรับ 2. การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักวิจัยทำงานแบบบูรณาการทำงานข้ามศาสตร์ เพื่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ๆ 3. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ จัดทำฐานข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราอย่างครบวงจร และการบริการให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาต่างๆ ในอุตสาหกรรม 4. การสร้างเครือข่าย ระหว่างนักวิจัย ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อผลักดันการนำองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์จริงทั้งในเชิงพาณิชย์ และเพื่อประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐ 5. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านยางพารา สร้างเวทีและพื้นที่ในการเสริมศักยภาพนักศึกษา สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ รวมถึงการจัดอบรมเสริมศักยภาพในรูปแบบต่างๆ



ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สร้างผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติด้านยางพารา (เฉพาะปี 2564-ปัจจุบัน จากฐานข้อมูล Scopus) อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความท้าทายในอนาคตคือการดึงเอาองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแปลง ประยุกต์ สื่อสาร และถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ และตอบโจทย์ความท้าทายของสังคม 



    นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะและสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยทางสถาบันฯ มุ่งเน้นในการนำนักวิจัยด้านยางพาราและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มและเกิดแรงบันดาลใจในทำงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น เกิดผู้ประกอบการใหม่ ที่ทำงานร่วมกันจนสามารถจดสิทธิบัตรได้



สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มีความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนต่างๆ ที่สร้างเป้าหมายที่ท้าทายอันเดียวกันคือการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมยางพารา ก้าวเข้าสู่เวทีโลก เพื่อขับเคลื่อนเศษฐกิจแนวใหม่ BCG ให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไป




เว็บไซต์สถาบันนวัตกรรมยางพารา http://www.nr-iri.psu.ac.th
ชมผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมจากยางพาราได้ที่ https://www.facebook.com/NaturalRubberPSU