ข่าวชาวสงขลานครินทร์

Peace Survey ชายแดนใต้ไม่เห็นด้วยงดละหมาดในมัสยิดช่วงโควิด พร้อมร้องขอการกระจายอำนาจการปกครอง มองไม่เห็นความก้าวหน้าของการพูดคุยสันติสุข แต่ยังหนุนและหวังว่าความรุนแรงชายแดนใต้จะคลี่คลายในเร็ววัน




    ผลสำรวจ Peace Survey ชายแดนใต้ในสถานการณ์โควิด รัฐบาลได้คะแนนผ่านเพียงครึ่ง ขณะที่ผลสำรวจยืนยันประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีความหวังต่อสันติภาพและสนับสนุนให้มีการพูดคุยสันติสุข แม้ความเป็นจริงยังไม่เห็นความก้าวหน้า นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น อีกทั้งให้มีพื้นที่ปลอดภัย หยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งถามหาบทบาทสร้างสันติภาพของ ส.ว. และ ส.ส. ทั้งในพื้นที่และระดับชาติ ขณะเดียวกัน ไม่เห็นด้วยกับมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยการงดละหมาดมัสยิด ปิดตลาด ปิดการขนส่ง 

    เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ที่ ห้องประชุมรูสะมิแล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เครือข่ายวิชาการ Peace Survey แถลงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 6 โดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,391 ตัวอย่าง ที่อาศัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ระหว่างวันที่ 16 เมษายน – 30 กรกฎาคม 2564 

    ผศ. ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการ ร่วมกับ พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และองค์กรสมาชิกเครือข่าย ได้ร่วมกัน นำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ หรือ Peace Survey ดังกล่าว โดยระบุเป้าหมายที่สำคัญของการสำรวจว่า นอกจากเพื่อรับทราบข้อคิดเห็นของกลุ่มประชาชนที่มีต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมสะท้อนความคิดเห็นและความต้องการแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนกระบวนสันติภาพได้มีข้อมูลทางวิชาการที่มาจากประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจและการดำเนินการสร้างสันติภาพต่อไปด้วย 

    สำหรับผลการสำรวจที่สำคัญในครั้งนี้ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ประชาชนกลุ่มตัวอย่างได้แสดงความคิดเห็นต่อมาตรการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 63.5 ไม่เห็นด้วยที่มีการสั่งงดละหมาดในมัสยิด ร้อยละ 56.1 ไม่เห็นด้วยให้มีการปิดตลาด ร้อยละ 53.9 ไม่เห็นด้วยให้มีการปิดการขนส่ง ร้อยละ 33.4 ไม่เห็นด้วยกับการเรียนการสอนออนไลน์ และร้อยละ 29.7 ไม่เห็นด้วยกับการปิดโรงเรียนและสถานศึกษา แต่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการให้มีบังคับใช้มาตรการการสวมหน้ากาก การค้นหาและสอบสวนผู้ติดเชื้อเชิงรุก รวมทั้งมาตรการกักตัว 14 วันเพื่อควบคุมโรค

    ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 44.8 ระบุว่าสถานการณ์ยังคงเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 32.9 ระบุว่าสถานการณ์ดีขึ้น ส่วนอีกร้อยละ 16 ระบุว่าสถานการณ์แย่ลง ขณะที่อีกร้อยละ 6.2 ไม่ตอบหรือตอบไม่รู้

    สำหรับคะแนนความคาดหวังต่อรัฐบาลนั้น ในการสำรวจครั้งนี้ มีค่าความคาดหวังเกินครึ่งหนึ่งและสูงกว่าการสำรวจในที่ผ่านมาเล็กน้อย คือ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.34 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ในช่วงปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 และการประกาศยุติปฏิบัติการของฝ่ายบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 อันเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังเผชิญปัญหาโรคระบาด

    ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความหวังต่อการเกิดสันติภาพในพื้นที่นั้น ประชาชนกลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 49.8 มีความหวังและมีความหวังมาก ว่าภายใน 5 ปีจะเกิดข้อตกลงสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 63.2 สนับสนุนให้ใช้กระบวนการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งร้อยละ 38.9 ก็มีความเชื่อมั่นและเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่ากระบวนการพูดคุยจะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความหวัง ความเชื่อมั่น และสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติสุข แต่ประชาชนเพียงร้อยละ 30.3 ที่เห็นว่ากระบวนการพูดคุยมีความก้าวหน้า ขณะที่ส่วนใหญ่ระบุว่าไม่มีความก้าวหน้า หรือขอไม่ตอบ และไม่รู้เกี่ยวกับการพูดคุย

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง จากผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.9 มีความเห็นว่า การพูดคุยในประเด็นรูปแบบการปกครองนั้นมีความจำเป็นมาก ทั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 27.3 อยากเห็นการปกครองแบบกระจายอำนาจมากขึ้น ด้วยโครงสร้างการปกครองที่เหมือนกันส่วนอื่นๆ ของประเทศ และมีจำนวนร้อยละ 32.1 ที่ระบุว่า พอรับได้กับรูปแบบการปกครองดังกล่าว ขณะที่รูปแบบที่เป็นการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เขตปกครองพิเศษ มีกลุ่มตัวอย่างต้องการให้เป็นอย่างนั้นและจำเป็นอย่างยิ่ง ร้อยละ 24.4 ส่วนรูปแบบการปกครองที่เป็นอิสระจากประเทศไทยนั้น มีเพียงร้อยละ 13.4 เลือกรูปแบบการปกครองแบบนี้ ทั้งนี้ รูปแบบการปกครองประเด็นนี้ มีผู้ระบุว่าขอไม่ตอบและไม่รู้ สูงถึงหนึ่งในสาม คือร้อยละ 35.2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวและความกังวลในการแสดงออกทางความคิดในประเด็นดังกล่าว  

กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ยังได้เรียกร้อง 5 มาตรการเร่งด่วนในพื้นที่คือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน การไม่ก่อเหตุรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์หรือเป้าหมายอ่อน การป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และการยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่

นอกจากนี้ จากข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่าผู้ให้สัมภาษณ์จำนวนมากแสดงความคิดเห็นว่า นักการเมืองทั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และนักการเมืองท้องถิ่น แทบไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เรียกร้องให้กลุ่มเหล่านี้แสดงบทบาทหน้าที่ของตนเองมากขึ้น รวมทั้ง ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ควรมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ เนื่องจากการแก้ปัญหาพื้นที่นี้ใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนไทยทั้งประเทศ

สำหรับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ Peace Survey นี้ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2559 โดยเครือข่ายวิชาการ Peace Survey ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการ หน่วยงานอิสระ และองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งในและนอกพื้นที่จำนวน 24 องค์กร มีเป้าหมายสำคัญในการแสวงหาและรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

    การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนฯ หรือ Peace Survey ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสันติวิธีและธรรมภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

อ่านเอกสารเผยแพร่ได้ที่ https://administration.pn.psu.ac.th/pr-file/PeaceSurvey.pdf