สงขลานครินทร์ เปิดตัวหนังสือ “นกใน ม.อ. และเขาคอหงส์” และ “ค้างคาวใน ม.อ. และเขาคอหงส์”
พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดตัวหนังสือ “นกใน ม.อ. และเขาคอหงส์” และ “ค้างคาวใน ม.อ. และเขาคอหงส์” หวังเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับปรุงฐานข้อมูลของสิ่งมีชีวิตในเขาคอหงส์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “นกใน ม.อ. และเขาคอหงส์” เขียนโดย ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข และ คุณพชร พรหมนพวงศ์ และ หนังสือ “ค้างคาวใน ม.อ. และเขาคอหงส์” เขียนโดย ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข เพื่อเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสือ และขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำหนังสือทั้งสองเรื่อง ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook : Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 64
ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข อาจารย์วิจัยประจำพิพิธภัณฑ์ฯ ผู้เขียนหนังสือทั้งสองเรื่อง กล่าวว่า หนังสือทั้งสองเรื่องเริ่มต้นจากกระบวนการวิจัยและอนุรักษ์เขาคอหงส์ที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่กว่า 15 ปีที่แล้ว โดยคณาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และความร่วมมือกับหน่วยงานรอบเขาคอหงส์ โดยตั้งเป้าว่าหนังสือทั้งสองเรื่องจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงฐานข้อมูลอย่างเป็นทางการของสิ่งมีชีวิตในเขาคอหงส์โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคพลเมือง
ด้าน คุณพชร พรหมนพวงศ์ ผู้เขียนร่วมในหนังสือนกใน ม.อ. และเขาคอหงส์ กล่าวว่า หนังสือเรื่องนี้บันทึกรายชื่อนกไว้ทั้งสิ้น 168 ชนิด ซึ่งหนังสือนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการริเริ่มจัดทำบันทึกรายชื่อนกใน ม.อ. โดยชมรมดูนก ตั้งแต่เมื่อปี 2540 เป็นต้นมา แม้มีการขาดช่วงของการสำรวจในระยะหลังบ้าง แต่รายงานการพบนกในอดีตหลายชนิดนับว่าสำคัญมาก และในอนาคตคาดว่าหากมีการสำรวจติดตามเพิ่มเติม น่าจะพบนกในเขาคอหงส์มากกว่า 200 ชนิดเลยทีเดียว
ขณะที่ คุณเรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิทยาศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑ์ฯ ผู้ทำกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ร่วมกับเยาวชนและชุมชนท้องถิ่นในเขาคอหงส์ กล่าวในการเสวนาครั้งนี้ว่า เขาคอหงส์เป็นดั่งสวนหลังบ้านที่ให้บริการทางนิเวศอันประเมินค่าไม่ได้ให้กับคนหาดใหญ่ ให้ทั้งน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ เป็นพัดลมไล่ไอร้อนออกจากตัวเมือง เป็นแหล่งท่องเที่ยวสันทนาการ แหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ ที่สำคัญเขาคอหงส์เป็นบ้านให้สัตว์ป่าอีกจำนวนมากไม่ใช่แค่นกและค้างคาว แต่เป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และพันธุกรรมทรัพยากรท้องถิ่นที่สำคัญมาก แต่เขาคอหงส์มีสภาพเป็นเหมือนเกาะ ถูกตัดขาดจากป่าผืนอื่นๆ จึงเป็นที่มั่นสุดท้ายที่เหลืออยู่ของสัตว์ป่า การให้ความรู้เรื่องสิ่งมีชีวิตในเขาคอหงส์จึงมีประโยชน์ทั้งต่อการศึกษาธรรมชาติเขาคอหงส์ เป็นฐานข้อมูลให้กับท้องถิ่น และกระตุ้นการอนุรักษ์เขาคอหงส์ให้อยู่คู่เมืองหาดใหญ่อย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ในงานยังมีการเชิญชวนบุคคลทั่วไป ตลอดจนชุมชนท้องถิ่น ร่วมกันสำรวจและเก็บข้อมูลทรัพยากรชีวภาพในเขาคอหงส์ร่วมกัน เพื่อแบ่งปันข้อมูลทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น iNaturalist เพื่อติดตามประชากรสิ่งมีชีวิตและสุขภาพของระบบนิเวศเขาคอหงส์แบบมีส่วนร่วมในระยะยาวอีกด้วย