ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.สงขลานครินทร์ เปิดอาคารสำนักงานพื้นที่ทุ่งใสไช ขับเคลื่อนสู่การเป็นพื้นที่นวัตกรรมเพื่อสังคม




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี จัดพิธีเปิดอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พื้นที่ทุ่งใสไช โดยมีนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองศาสตราจารย์ ดร.เจริญ นาคะสรรค์ รองอธิการบดีวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน ณ อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พื้นที่ทุ่งใสไช ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 64 


    นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาสำคัญในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในศาสตร์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว และภาษา โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยฯ ได้ร่วมมือกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินโครงการต่างๆ ทั้งการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย การดำเนินโครงการที่ยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมยาง โดยมีโครงการต้นแบบทั้งถนนยางพารา ยางปูพื้นสนาม ยางปูพื้นบ่อและสระน้ำ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ภายใต้โครงการ Surat palm city อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในโครงการ Surat Mice city และเมืองสมุนไพรหรือที่เรียกว่า Surat Herbal city การเสนอจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center) ด้านปาล์มน้ำมัน ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ และการเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งการขับคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor)


    ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ ได้พัฒนาพื้นที่ทุ่งใสไช ซึ่งมีเนื้อที่ 2,296 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา ในรูปแบบสิ่งก่อสร้างอาคาร ถนน ระบบประปา ไฟฟ้า รวมถึงการดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการดำเนินงานในการพัฒนาด้านต่างๆ พร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็นพื้นที่นวัตกรรมเพื่อสังคม โดยดำเนินการ 7 แผนงาน ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ, แผนงานพื้นฐาน การวิจัย การศึกษา และบริการสังคม, แผนงานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประมงชายฝั่ง และอุตสาหกรรมประมง, แผนงานพืชและสัตว์เศรษฐกิจ, พื้นที่พัฒนาด้านการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ และวัฒนธรรม, พื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่น และพื้นที่อนุรักษ์ทางวัฒนธรรม (เจดีย์โบราณ)



  jpg
  jpg
  jpg