ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ผลประเมิน EdPEx ม.อ. ยังคงมุ่งมั่นใช้วิชาการและความพร้อมบุคลากรพัฒนาท้องถิ่น โดยให้เพิ่มการถ่ายทอดแผนกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับการประเมินตนเองตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษา เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) ปีการศึกษา 2563 ในระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2564 โดย นายกิตติพงศ์ เตมียะประดิษฐ์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีโอที รับผิดชอบ งานวางแผนยุทธศาสตร์การบริหารความเสี่ยง เทคโนโลยีสารสนเทศระบบงาน และระบบคุณภาพงานขององค์กร เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย รศ. พญ.ปรียานุช แย้มวงษ์ ผศ. เสาวลักษณ์ สุขประเสริฐ รศ. ดร.อนันต์ มุ่งวัฒนา ศ. พญ.จามรี ธีรตกุลพิศาล ผศ. ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ และ ผศ. ดร.วีระพงค์ เกิดสิน โดยคณะกรรมการได้มีการรับฟังการนำเสนอผลการดำเนินงานมหาวิทยาลัย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณบดี ผู้อำนวยการกอง ตัวแทนคณาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง 



    จากการประเมินคุณภาพภายในตามแนวทางเกณฑ์คุณภาพการศึกษา เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศครั้งนี้ พบว่า จุดแข็งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือการมีความมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดยใช้สมรรถนะหลักของความเชี่ยวชาญในด้านทรัพยากรทางทะเลและพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ พัฒนาท้องถิ่นในรูปของโครงการสำคัญ การสนับสนุนชุมชนวิชาการ การต่อยอดงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ การสาธารณสุขระดับตติยภูมิ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 และการส่งเสริมอาชีพด้วยการจัดตั้งกลุ่มตลาดออนไลน์ PSU Bazaar เป็นต้น มีผลลัพธ์การมุ่งเน้นผู้เรียนและลูกค้าบางด้านที่ดีบรรลุเป้าหมาย เช่น ผลงานวิจัยของนักศึกษาและอาจารย์ ความพึงพอใจของนายจ้างผู้ใช้บัณฑิต ความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการบริหารทรัพยากรที่เอื้อต่อการเรียนการสอน ซึ่งจากผลการดำเนินงาน จำนวนนักศึกษา และจำนวนการเข้ารับบริการด้านสุขภาพและด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย จะมีส่วนช่วยสามารถก้าวข้ามความท้าทายด้านการมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน
    

    ความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนในภาคใต้ มาจากการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เกื้อหนุนให้บุคลากรมีความพร้อมในการทำงานเพื่อองค์กร มีการสร้างความผูกพันของบุคลากร การพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพการงาน โดยไม่ละทิ้งกิจกรรมสันทนาการหรืองานประเพณี การดูแลสุขภาพ การยกย่องชมเชย สิทธิสวัสดิการอย่างทั่วถึงในทุกวิทยาเขต



    อย่างไรก็ตาม มีหลายโครงการสำคัญที่มหาวิทยาลัยยังไม่ได้มีการถ่ายทอดแผนกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติและติดตามการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล การคาดการณ์ความจำเป็นด้านขีดความสามารถและอัตรากำลังในอนาคต ซึ่งจะทำให้องค์กรมีเวลาเพียงพอสำหรับการฝึกอบรมบุคคลและการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบงาน ซึ่งจะทำให้บุคลากรทุกระดับเห็นทิศทางที่มหาวิทยาลัยต้องการ เพิ่มความมีส่วนร่วมและความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อความสำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้มีการพัฒนาแนวทางการประเมินและปรับปรุงอย่างเป็นระบบ



    ควรมีการวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้บางผลลัพธ์มีแนวโน้มลดลงเพื่อการปรับปรุง เช่น ลำดับที่ของบางสาขาจากการจัดอันดับในระดับโลก ร้อยละของการสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพของบัณฑิตบางสาขา การได้งานทำของบัณฑิตภายใน 1 ปี จำนวนผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาที่ได้รับรางวัลในระดับชาติหรือนานาชาติ จำนวนผลงานวิจัยที่นำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนและที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ร้อยละความพึงพอใจของนักศึกษา อาจารย์นักวิจัยที่ได้รับทุน และ สัดส่วนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติต่ออาจารย์ประจำ เป็นต้น
สำหรับช่วงคะแนนจากการประเมินมีดังนี้ 

    ช่วงคะแนนของกระบวนการ อยู่ระหว่าง 151-210 องค์กรแสดงให้เห็นถึงการมีแนวทางอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผลตอบสนองต่อข้อกำหนดพื้นฐานของเกณฑ์ แต่มีบางพื้นที่ (กระบวนการ) หรือบางหน่วยงานที่เริ่มมีการนำแนวทางไปถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติ องค์กรมีการพัฒนาทิศทางการปรับปรุงทั่วไปเป็นแบบตั้งรับปัญหา

    ช่วงคะแนนของผลลัพธ์ อยู่ระหว่าง 0-120 การรายงานผลการดำเนินงานอยู่บ้างสำหรับบางพื้นที่ (กระบวนการ) ที่ตอบสนองต่อข้อกำหนดพื้นฐานของเกณฑ์ แต่โดยทั่วไปยังขาดการแสดงแนวโน้มและข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ