ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.สงขลานครินทร์ จัดงาน ม.อ.วิชาการ ให้ความรู้ การปรับตัวช่วงโควิด พร้อมพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง และมุมมองในการช่วยเหลือสังคม




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดงาน ม.อ.วิชาการประจำปี 2564 เพื่อนำองค์ความรู้ เผยแพร่ต่อสาธารณชน ตอบโจทย์ และมุ่งมั่นแก้ปัญหาของภาคใต้และประเทศ โดยจัดให้มีกิจกรรมเสวนา “พืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง” การให้ความรู้ ปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์โควิด โดย จิตแพทย์ กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล และ สนทนา “การเชื่อมโยงสังคมปัจจุบันกับ ม.อ.ในมุมมองของคนภายนอก” กับ นายสุวิกรม อัมระนันทน์ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 64 ในรูปแบบออนไลน์

    ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า งาน ม.อ.วิชาการจัดเป็นประจำทุกปี ในปี 2563-2564 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ ในสถานการณ์โควิด โดยนำความรู้ นวัตกรรมมานำเสนอประชาชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ปีนี้เน้นเรื่องพืชเศรษฐกิจ รวมถึงความรู้มุมมองเชิงสุขภาพ เพื่อร่วมภาคภูมิใจ ไปกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่อยู่เคียงคู่กับประชาชนมากกว่า 50 ปี รวมถึงเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ร่วมถึงในต่างประเทศ ในการสร้างประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศชาติ

    ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดงาน ม.อ.วิชาการ กล่าวว่า ปีนี้ งาน ม.อ.วิชาการ ได้เชิญผู้รู้เรื่องพืชเศรษฐกิจ เรื่องการปรับตัวอย่างไรในช่วงโควิด และหลังเหตุการณ์โควิด ในมุมมองทางจิตวิทยา และมุมมองของการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร 



    โดยมี กิจกรรมเสวนา “พืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ. ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ รศ. ดร.จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล คณะเภสัชศาสตร์ ดร. พท.จุฬาลักษณ์ โชคไพศาล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย คณะการแพทย์แผนไทย ผศ. นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ สำนักวิจัยและพัฒนา ภญ. วิไลวรรณ สาครินทร์ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายพงศธร ธรรมชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ภาค 9 สงขลา นำเสวนาโดย ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ และ ผศ. ดร.ชิตชไม โอวาทฬารพร รองคณบดีฝ่ายบริหารและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะเภสัชศาสตร์

    ดร. พท.จุฬาลักษณ์ โชคไพศาล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย คณะการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า กระท่อมมีรสฝาด ใช้ส่วนของใบ ในการรักษาโรคผิวหนัง ผื่นแพ้ ลดปวด ใช้ร่วมกับสมุนไพรหลากหลายชนิด ทางโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย นำพืชกระท่อมมาใช้ร่วมกับชมิ้นชัน กระท้อน ใช้เป็นยาทาภายนอก ในรูปแบบลูกประคบ ต่อไปจะพัฒนาเป็นครีมเจล เช่น โรคสะเก็ดเงิน

    รศ. ดร.จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล คณะเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า พืชกระท่อม โตง่าย โตเร็ว มีสรรพคุณในการช่วยกระตุ้นร่างกาย ลดอาการปวด ช่วยให้มีความสุข คลายกล้ามเนื้อ คลายกังวัล แก้ลำไส้อักเสบ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าใช้ในปริมาณน้อยๆ จะกระตุ้นกล้ามเนื้อ หากใช้ปริมาณมาก จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ง่วงซึม

    รศ. ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ทางคณะวิทยาศาสตร์ นำพืชกระท่อมมาใช้กับหนูทดลอง พบว่าเป็นยาต้านซึมเศร้า ทำให้หนูทดลองกระปรี้กระเปร่า ลดน้ำหนัก ลดน้ำตาล ค่อนข้างปลอดภัย ในส่วนของการวิจัยในคน ทดสอบต่อคลื่นสมองและหัวใจ พบว่าต้านซึมเศร้าแต่ไม่ได้เคลิ้ม



    ผศ. นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ สำนักวิจัยและพัฒนา ม.อ. กล่าวว่า ได้ทำงานสมุนไพรต้นแบบ พืชกระท่อม โดยรับทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรม จ.สงขลา เป็นโรงงานต้นแบบ วัตถุดิบจาก อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี มีการสกัดด้วยเครื่องจักร ขณะนี้มีหลายผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ มีความปลอดภัย แหล่งปลูกที่มีออร์แกนิค มีสารสกัดเป็นผง และแบบกึ่งเหลว ได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และยา ในอนาคต

    นายพงศธร ธรรมชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ภาค 9 กล่าวว่า พ.ร.บ.ยาเสพติด ได้ปลดล็อค พืชกระท่อม ออกจากยาเสพติด ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา สิ่งที่ยังห่วงใยคือ การนำเข้าหรือส่งออก ต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงาน ปปส. มีเงื่อนไขห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กระท่อมก็จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ต่อไป

    ภญ. วิไลวรรณ สาครินทร์ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา พืชเศรษฐกิจที่นิยม คือ กัญชง และกัญชา ช่อดอกกับเมล็ดยังถือเป็นยาเสพติด ส่วนใบนำไปทำอาหารได้อย่างถูกต้อง การอนุญาตต้องรอกฎหมายลูก ตัวไหนเป็นสารที่กังวล เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาคุณภาพ ความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็อยากส่งเสริมเกษตรกร มาต่อยอด ซึ่งทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะออกมาตรฐานความปลอดภัยสู่ประชาชนออกมา



    นายแพทย์ กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล (หมอแดน) จิตแพทย์อิสระ และจิตแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พูดคุย “ปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์โควิด” นำคุย โดย ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ

    นายแพทย์กัมปนาท กล่าวว่า ช่วงปีที่แล้ว เราปรับตัวได้ มีช่วงได้พัก ปีนี้ตัวไวรัสเปลี่ยนสายพันธุ์ และช่วงนี้เป็นช่วงพีค ตัวกระตุ้น  ความเหนื่อยล้าของคนในสังคม เงินทองก็ไม่มี บางคนเริ่มปล่อยตัวในการป้องกันการติดเชื้อ มองจากทั่วโลก ต่างก็มีการต่อสู้เชื้อโรค มีเรื่องการเมือง มีการประท้วง ทำให้ยากลำบากขึ้น ตอนนี้สุขภาพจิตคนไทยแย่มาก เราไปโฟกัสทางกาย ไม่ได้ดูแลทางจิต อาจจะเครียดมาก ตกงาน อยู่ในสภาพที่แออัด มีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้น บางรายเรื้อรังมาเป็นปี คนไทยก็มีเอ็นจีโอ เป็นข้อดีของประเทศไทย ที่มีการช่วยเหลือกัน ด้วยความสามัคคี จากพื้นฐานของสังคม และหลังๆ มีการใช้สื่อโซเชียล ยิ่งกระตุ้นอารมณ์มาก

    “เราต้องเอาตัวเองให้รอด ฝึกฝนตัวเอง ต้องคิดว่าโลกนี้มีสีเทา ไม่มีเพียงขาวกับดำ ต้องมีความคิดที่ยืดหยุ่น บริหารความคิด การเสพสื่อ ต้องมีความพอดี ข้อมูลต้องตรวจสอบ ไม่เช่นนั้นเราก็เครียดเอง ในภาวะวิกฤติอย่ามองเป็นความเลวร้าย โควิดช่วยให้เราปรับมุมมองและพัฒนาตัวเอง” นายแพทย์กัมปนาท กล่าว



    ปิดท้ายด้วยการสัมภาษณ์พิธีกรชื่อดัง นายสุวิกรม อัมระนันทน์ (เปอร์) ในหัวข้อ “การเชื่อมโยงสังคมปัจจุบัน กับ ม.อ. ในมุมมองของคนภายนอก” โดย นางสาวเนตรนภา สุทธิวิภากร ศูนย์กิจการนานาชาติและสื่อสารองค์กร

    นายสุวิกรม กล่าวว่า มีเด็กส่วนใหญ่ ที่ยังไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร มหาวิทยาลัยต้องสอนให้รู้ ความรู้ไม่ได้อยู่ในตำราเรียน เรียนแล้วต้องรู้เป้าหมายในชีวิตโดยการศึกษานำพาไปสู่สิ่งนั้น เช่น อยากเป็นนักธุรกิจ ตลอดการเรียน 4 ปี เราจะส่งเสริมให้ทำสิ่งนี้สำเร็จ ประเทศเราใหญ่ มีความไม่เท่าเทียม การที่เรามีมหาวิทยาลัยใหญ่ในภูมิภาค ช่วยยกระดับท้องถิ่น สิ่งที่ควบคู่คือการสร้างอาชีพ เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กภาคใต้ ควรพัฒนาการสร้างพื้นฐานอาชีพให้คนในท้องถิ่นด้วย