ข่าวชาวสงขลานครินทร์

อาจารย์ - นักศึกษา คณะเภสัชฯ ม.อ. ร่วมเป็นจิตอาสา ในวิกฤตการณ์โรคระบาด COVID-19




    อาจารย์และนักศึกษา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเป็นจิตอาสาช่วยงาน ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในจังหวัดสงขลา ตั้งแต่การเตรียมวัคซีน คัดกรองผู้มารับบริการ ติดตามผลข้างเคียงหลังฉีด ให้คำแนะนำและตอบข้อสงสัย และมีส่วนร่วมในการทำ Home isolation 



    รองศาสตราจารย์ ดร. ภก. นิมิตร วรกุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า ภารกิจให้บริการฉีดวัคซีนโควิด – 19 แก่ประชาชนในปัจจุบัน จำเป็นต้องใช้กำลังคนในการปฎิบัติงาน อาจารย์และนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมเป็นจิตอาสาช่วยเหลือการปฎิบัติงาน ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนในจังหวัดสงขลา โดยทำหน้าที่ตั้งแต่การคัดกรองผู้มารับบริการเบื้องต้น ว่ามีความพร้อมที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ ควรจะได้รับวัคซีนประเภทใด ให้คำแนะนำ และซักประวัติ หากพบปัญหา เช่น หากมีประวัติแพ้วัคซีน เภสัชกรจะปรึกษาแพทย์ และจะปรับเปลี่ยนประเภทของวัคซีนหน้างาน เพื่อให้เหมาะสมกับผู้มารับบริการ

    เมื่อผู้รับบริการได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เภสัชกรจะทำหน้าที่ดูแลและเฝ้าระวังอาการข้างเคียงในช่วงเวลา 30 นาทีที่สังเกตุอาการ เภสัชกรจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องเฝ้าระวัง และติดตามอาการของผู้มารับบริการ



    อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของเภสัชกรคือการบริหารจัดการวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรมาให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเก็บรักษาวัคซีน เนื่องจากวัคซีนแต่ละประเภทมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน เภสัชกรจำเป็นต้องเข้าไปดูแล ตลอดจนการขนส่งที่ต้องมีวิธีการที่เหมาะสมเพื่อส่งวัคซีนไปยังเป้าหมาย การเตรียมวัคซีนโดยใช้องค์ความรู้ในการเตรียมยาปราศจากเชื้อก่อนที่จะนำไปฉีดแก่ผู้มารับบริการ 

    ปัจจุบันผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงมีการทำ Home isolation สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อได้ เพื่อจะได้สำรองเตียงที่โรงพยาบาลแก่ผู้ป่วยที่มีอาการมากกว่า โดยเภสัชกรจะมีส่วนร่วมในการทำ Home isolation เนื่องจากต้องมีการให้ยาแก่ผู้ป่วย ทั้งยาต้านไวรัสและสมุนไพรต่างๆ เภสัชกรจะโทรเพื่อให้ข้อมูลวิธีการใช้ยา ติดตาม และเฝ้าระวังผลข้างเคียงต่างๆ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 12 จังหวัดสงขลา โดยจิตอาสาซึ่งเป็นนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 4 จำนวน 137 คน ภายใต้การกำกับดูแลของเภสัชกรของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 12 และคณาจารย์ ระดมกำลังโทรศัพท์สัมภาษณ์ผู้ป่วยโควิด - 19 ในกรุงเทพมหานคร ที่พักรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน (home isolation) เพื่อสอบถามคัดกรองอาการ ยืนยันตัวตน และที่อยู่ พร้อมกับให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองเบื้องต้นให้กับผู้ป่วย รวบรวมข้อมูลส่งกลับให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการจัดส่งยาจำเป็นไปถึงบ้านผู้ป่วยต่อไป



    รองศาสตราจารย์ ดร. ภก. นิมิตร กล่าวต่อว่า อาจารย์และนักศึกษาที่ไปปฏิบัติงานเป็นจิตอาสาจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ตามที่กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงในการทำงานด่านหน้า และจะได้รับการฝึกก่อนปฏิบัติ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 5 – 6 ของคณะเภสัชศาสตร์ ได้มีส่วนร่วมเป็นจิตอาสาเพื่อทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วย แยกประเภทวัคซีน และเฝ้าระวังผลข้างเคียง นอกเหนือจากบริบทที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน อาจารย์เภสัชกรยังให้บริการวิชาการด้านข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับยาต้านไวรัส และสมุนไพรต่างๆ ที่สามารถใช้บรรเทาอาการในโรคโควิด – 19 ผ่านทางการบรรยายออนไลน์ร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ อีกด้วย

    "สถานการณ์ในปัจจุบันสหวิชาชีพต้องทำงานร่วมกัน และประสานงานกัน จิตอาสาคณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. มีความพร้อมและเต็มใจที่จะช่วยเหลืองานอย่างเต็มที่ ดั่งปณิธานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”



    นศภ.จิรนันท์ วชิรพิเชฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 6 คณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า งานที่ทำหลักๆ คือการติดตามอาการข้างเคียงหลังฉีด และคอยซักประวัติผู้ที่มาใช้บริการ การมาเป็นจิตอาสาที่ศูนย์ฉีดวัคซีนถือเป็นประสบการณ์ใหม่ และเป็นอีกหนึ่งบทบาทใหม่ของเภสัชกรในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาด อีกทั้งยังช่วยให้การฉีดวัคซีนแก่ประชาชนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มจำนวนการฉีดมากขึ้น กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่