ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ผนึกร่วมหน่วยงานภาครัฐ มุ่งต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อมใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย ผศ. ดร.นิวัต แก้วประดับ อธิการบดี ลงนามบันทึกความเข้าใจ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมแบบครบวงจรสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ (การต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด) ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. อธิบดีกรมการแพทย์ และผู้อำนวยการสถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส. เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 67



ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีการทำวิจัยมาอย่างยาวนาน ภายใต้วิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก โจทย์วิจัยของเราจึงหลากหลาย และครอบคลุมในทุกมิติของชุมชนและสังคม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมให้ครบวงจร ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองมีทีมวิจัยที่ได้ศึกษา วิเคราะห์ และค้นคว้าให้รู้ถึงสารสำคัญของพืชกระท่อม ทั้งฤทธิ์ที่เกิดขึ้น และการนำเอาไปใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง จากปี 2545 ที่กระท่อมยังอยู่ในสถานะพืชเสพติด จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีองค์ความรู้ที่จะชี้แนะและให้ข้อมูลแก่หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสามารถแสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ของกระท่อม ที่จะนำไปใช้ทางการแพทย์ได้




“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หวังว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้สร้างสะพานความร่วมมือ และมีช่องทางที่นักวิจัยสามารถใช้ความรู้ทางวิชาการ มาช่วยพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ ให้เกิดเป็นงานวิจัยทางด้านพืชกระท่อมอย่างครบวงจรและจับต้องได้ บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และการประสานประโยชน์ร่วมกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า รวมถึงแสดงศักยภาพของนักวิจัยไทยให้ประจักษ์ในสายตานานาประเทศต่อไป” ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวทิ้งท้าย




ความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมแบบครบวงจรสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งเน้นการวิจัยต่อยอดพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และเกิดเป็นอุตสาหกรรมทางยาภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการต่อยอดผลงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคเอกชน บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และการประสานประโยชน์ร่วมกัน