ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. เปิดเวทีการมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย โครงการ SEA สงขลา - ปัตตานี




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเวทีการมีส่วนร่วม ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยมี นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมรับฟังและสังเกตการณ์ ในฐานะประธานกรรมการร่วมในคณะกรรมการกำกับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ หัวหน้าโครงการฯ พร้อมด้วย ผศ. ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนพัฒนา นายอุสมาน หวังสนิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วม และคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ณ บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567




โครงการดังกล่าวได้กำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผนแม่บทของจังหวัดสงขลาและปัตตานี จำนวนไม่น้อยกว่า 40 เวที โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง 20 เวที ทั้งในจังหวัดสงขลาและปัตตานี ซึ่งการจัดเวทีการมีส่วนร่วมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ต่อโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม เป็นผู้แทนของผู้มีส่วนได้เสีย จำนวน 35 คน เป็นกลุ่มภาคประชาชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน เพื่อระดมความคิดเห็น เรื่อง การร่างรายงานของผู้เชี่ยวชาญการกำหนดวิสัยทัศน์ รวมไปถึงรับฟังความคิดเห็นการดำเนินโครงการของทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีการดำเนินงานคลอบคลุมพื้นที่และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่




นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อมารับฟังความคิดเห็นของการดำเนินโครงการ SEA โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งได้มีตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาเรื่องของการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง จากการรับฟังความคิดเห็นพบว่าประชาชนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ในภูมิภาค ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยใช้กระบวนการ SEA ตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้ รัฐบาลเองจะต้องนำผลการศึกษาโครงการ SEA โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นกลไกหลักในการนำผลดังกล่าวไปสู่การพัฒนาในมิติต่าง ๆ ต่อไปได้ในอนาคต และที่สำคัญประชาชนในพื้นที่เองต้องยอมรับในแนวทางการพัฒนาดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป




ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ Facebook: @SEASongkhlaPattani หรือประสาน ฝ่ายพันธกิจสังคม สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์