ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.สงขลานครินทร์ ค้นพบ “ตำหยาวสี่ขีด” พืชชนิดใหม่ของโลก




    นักพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค้นพบ “ตำหยาวสี่ขีด” พืชชนิดใหม่ของโลก บริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด จ.นครศรีธรรมราช

    ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.จรัล ลีรติวงศ์ ร่วมกับ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ Prof. Dr. David Johnson จากมหาวิทยาลัย Ohio Wesleyan ประเทศสหรัฐอเมริกา ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ตำหยาวสี่ขีด” (Alphonsea annulata Leerat. & Chalermglin) สกุลตำหยาว (Alphonsea) วงศ์กระดังงา (Annonaceae) จากการศึกษาทบทวนอนุกรมวิธานพืชสกุลตำหยาว (Alphonsea) ในประเทศไทย ภายใต้โครงการพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทยของพืชวงศ์กระดังงา โดยได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติสาขาพฤกษศาสตร์ Kew Bulletin 



    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จรัล ลีรติวงศ์ กล่าวว่า ตำหยาวสี่ขีด มีลักษณะเป็นไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงตัวแบบสลับ มีลักษณะรูปรีจนถึงรูปขอบขนานจนถึงรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม มีขนปกคลุมบริเวณแผ่นใบด้านล่าง ช่อดอกมี 1-3 ดอกย่อย ออกตรงตำแหน่งเลยซอกใบขึ้นมา มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ แยกจากกัน สีเขียวแกมน้ำตาล มีกลีบดอก จำนวน 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้นๆ ละ 3 กลีบ สีเหลืองแกมน้ำตาล แต่ละกลีบมีโคนกลีบโค้งเข้าด้านในเป็นรูปคล้ายถุง ปลายโค้งออกด้านนอก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพืชสกุลตำหยาว ผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยจำนวนมาก ผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด เวลาผลย่อยแห้งจะมีส่วนผิวนูนรูปวงแหวน เรียงตามแนวขวาง จำนวน 2-7 วง ซึ่งเป็นลักษณะที่บอกความแตกต่างจากพืชชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกัน 



    โดยพืชชนิดใหม่ของโลกนี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2562 จากบริเวณน้ำตกสี่ขีด อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และตัวอย่างพรรณไม้นี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืชแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU Herbarium) โดยยังไม่มีการระบุชื่อพรรณไม้ระดับชนิดมาก่อน เมื่อมีการตรวจสอบลักษณะสัณฐานวิทยาอย่างละเอียด พร้อมกับตรวจสอบเอกสารงานวิจัยทางอนุกรมวิธานที่เกี่ยวข้องสามารถยืนยันได้ว่า ตำหยาว เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก โดยได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Alphonsea annulata” ตามลักษณะของผลย่อยเวลาแห้งผิวจะมีลักษณะคล้ายรูปวงแหวน