ข่าวชาวสงขลานครินทร์

นักวิจัย ม.อ.ปัตตานี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ-แกะ เพิ่มทักษะวิชาชีพครัวเรือนยากจน




ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ลงพื้นที่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ-แกะ แบบครบวงจร ภายใต้โครงการปฏิบัติการแก้จนด้านการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ-แกะ ในพื้นที่ 5 ตำบลชายฝั่งทะเลจังหวัดปัตตานี ได้แก่ ต.แหลมโพธิ์ ต.ตาลีอายร์ ต.บานา ต.บางตาวา และ ต.บางปู ร่วมกับภาคเครือข่าย ปศุสัตว์อำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล และผู้นำชุมชน โดยจัดขึ้น ณ ต.บางตาวา อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 



กิจกรรมนี้ได้รับเกียรติจาก นายมะแอ ดอเลาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาวา กล่าวต้อนรับ โดยมี ผศ. ดร.เทียนทิพย์ ไกรพรม หัวหน้าโครงการ ฯ นักวิจัย และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอาหารสัตว์ พร้อมด้วยนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นวิทยากร และ ดร. ไอร์นี แอดะสง รองหัวหน้าโครงการการพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม และหัวหน้าศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี เป็นผู้ประสานงานหลัก กิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)



ผศ. ดร.เทียนทิพย์ ไกรพรม หัวหน้าโครงการ ฯ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีภารกิจหลักในการจัดการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน และค้นหาความต้องการของชุมชน เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น จึงได้ออกแบบและดำเนินโครงการปฏิบัติการแก้จน กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี และขับเคลื่อนการปฏิบัติการด้านการพัฒนาอาชีพ การแปรรูปเศษเหลือจากอุตสาหกรรมประมง พื้นที่ อ.ยะหริ่ง อ.หนองจิก อ.ไม้แก่น อ.สายบุรี อ.ปะนาเระ และ อ.เมืองปัตตานี เพื่อพัฒนาออกแบบสูตรอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ โดยนำครัวเรือนยากจนเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต อาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อลดปัญหาความยากจนในพื้นที่ต่อไปในอนาคต



กิจกรรมนี้เป็นการให้ความรู้เรื่องการแปรรูปเศษเหลือจากอุตสาหกรรมประมงในพื้นที่ ออกแบบมาเป็นสูตรอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งผลการสำรวจพบว่าในพื้นที่ ต.บางตาวา มีเศษปลาจากการทำประมง เศษเปลือกหอย มีแกลบ และวัตถุดิบที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารให้กับแพะ แกะ และไก่ ได้เป็นอย่างดี มีการสาธิตวิธีการแปรรูปอาหารแพะ แกะ และไก่ มีการให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาโรคสำหรับแพะ แกะ จากนั้นทีมนักวิจัยได้แจกจ่ายอาหารดังกล่าวให้แต่ละครัวเรือนได้นำกลับไปเป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยงของตนเองอีกด้วย