ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ร่วมกับ มรภ.สกลนคร ส่งเสริมและยกระดับโคเนื้อสกลนครด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ส่งมอบต้นแบบนวัตกรรมแผ่นยางปูพื้นคอกโค และรองเท้าโค ที่แปรรูปจากยางพารา ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงโคขุนบ้านแคมพุง ตำบลโนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร เพื่อส่งเสริมและยกระดับการเลี้ยงโคเนื้อสกลนคร



กิจกรรมการส่งมอบต้นแบบนวัตกรรมและการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้การส่งเสริมและยกระดับ โคเนื้อสกลนคร จัดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ณ วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงโคขุนบ้านแคมพุง ตำบลโนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยมี นายพิสิษฐ์ แร่ทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองประเมินผลและจัดการความรู้การวิจัย เป็นผู้แทนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะผู้บริหาร และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าร่วมกิจกรรม โครงการการส่งเสริมและยกระดับโคเนื้อสกลนครด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม เพื่อยกระดับคุณภาพโคเนื้อจังหวัดสกลนครและเพื่อส่งเสริมการขายและระบบโลจิสติกส์โคเนื้อจังหวัดสกลนคร โดยเป็นการบูรณาการเชื่อมโยงร่วมกันระหว่าง 2 สถาบันการศึกษาในการนำองค์ความรู้การวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ 



กิจกรรมในโครงการประกอบด้วย 1) การส่งเสริมสมาร์ทฟาร์ม ออกแบบและพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมกับชุมชนเป้าหมาย พัฒนาระบบสูบน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์และระบบกรองน้ำสำหรับฟาร์มโค โรงเลี้ยงโคพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ และยางปูพื้นคอกจากยางธรรมชาติลดแรงกระแทกสำหรับบรรเทาการเจ็บกีบเท้าและข้อเข่าที่ส่งผลต่อสุขภาพของโคเนื้อ 2) การยกระดับการเลี้ยงโคเนื้อ มีการพัฒนาอาหารโคเนื้อคุณภาพสูงที่ส่งผลต่อคุณภาพซากและเนื้อโค และผลิตภัณฑ์รองเท้าจากยางพาราสำหรับโคเนื้อ เพื่อแก้ปัญหาการบาดเจ็บและลดการติดเชื้อของกีบเท้าโคขุนที่เหมาะสมกับพื้นที่ 3) การตลาดและโลจิสติกส์ มีการแปรรูปมูลโคและเนื้อโค การตลาดและโลจิสติกส์ การสร้างคู่มือองค์ความรู้การส่งเสริมและยกระดับโคเนื้อสกลนครด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี 


สำหรับแผ่นยางปูพื้นคอกจากยางธรรมชาตินำมาใช้ปูพื้นคอกโคเพื่อลดแรงกระแทกและช่วยลดการกดทับบริเวณกีบเท้าและข้อเข่าของโคเนื้อ โดยเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาตรฐานตาม มอก. 2584-2556 ซึ่งในโครงการการส่งเสริมและยกระดับโคเนื้อสกลนครด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีการส่งมอบยางปูพื้นคอกจากยางธรรมชาติสำหรับการทดสอบภาคสนามให้กับวิสาหกิจชุมชน จำนวน 25 ตารางเมตร รวมมูลค่า 100,000 บาท นอกจากนี้ พบปัญหาจากการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับกีบเท้าโคส่งผลให้การเจริญเติบโต สุขภาพโค และคุณภาพเนื้อไม่เป็นไปตามเกณฑ์ จึงมีการนำนวัตกรรมรองเท้าจากยางพาราสำหรับโคเนื้อ เพื่อแก้ปัญหาการบาดเจ็บและลดการติดเชื้อของกีบเท้าโคขุน โดยมีการส่งมอบให้กับเกษตรกรจำนวน 10 ฟาร์ม รวมทั้งสิ้นจำนวน 50 คู่ รวมมูลค่ากว่า 35,000 บาท