ข่าวชาวสงขลานครินทร์

รมว.อว. พร้อมคณะ ลงพื้นที่ ม.อ.ปัตตานี รับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ มอบนโยบายหนุนเสริมภารกิจสถาบันการศึกษาชายแดนใต้




นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่รับฟังกิจกรรมการนำเสนอผลงานวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยเฉพาะโครงการสำคัญที่มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวง อว. ผ่านหน่วยบริหารโปรแกรม (Program Management Unit : PMU) ในการขับเคลื่อน อววน. ของประเทศ โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวต้อนรับ รศ. ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ องค์กรหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ผศ. ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการด้านการพัฒนากำลังคน (บพค.) ผศ. ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี คณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และภาคราชการ คณะนักวิจัย ภาคีเครือข่ายงานวิจัย ตัวแทนชุมชน และภาคประชาสังคม ร่วมในกิจกรรมการนำเสนอผลงานวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 66




การนำเสนอนิทรรศการ ผลงาน และผลิตภัณฑ์ในโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประกอบด้วย 

  1. โครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเลในพื้นที่ภาคใต้ สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งมุ่งยกระดับจังหวัดปัตตานีให้เป็นเมืองแห่งปูทะเล
  2. โครงการการพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ซึ่งทั้ง 3 สถาบันการศึกษาในพื้นที่ คือ ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้าเพื่อตอบคำถามหลัก คือ คนจนจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นใคร อยู่ที่ไหน จนในมิติใด เพราะเหตุใด และจะส่งเสริมให้หลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างไร ภายใต้โครงการดังกล่าว ม.อ.ปัตตานี ยังนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบองค์รวม โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหารายได้ควบคู่กับมิติอื่น ๆ ที่ส่งผลเชื่อมโยงกับความยากจน ได้แก่ มิติสุขภาพ เน้นการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก 0-5 ปี มิติการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมความสามารถของสมองส่วนหน้าในการบริหารจัดการ หรือ Executive functions (EF) มิติรายได้ เช่น ส่งเสริมการออม การส่งเสริมอาชีพทั้งการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง หัตถกรรม หัตถศิลป์ และการท่องเที่ยว เป็นต้น
  3. โครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี เน้นการนำทุนทางวัฒนธรรมทั้งด้านประวัติศาสตร์ ด้านวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้มาสร้างคุณค่าและสร้างมูลค่าผลงานเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับประเด็นมุ่งเน้นของกระทรวง อว. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงาน อว. จับมือและมีส่วนร่วมกับพื้นที่และชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ขับเคลื่อนงานวิจัยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจได้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ อว. ต้องทำทันที คือ การนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)