ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ร่วมกับ IPF ประเดิมเวทีปาฐกถาพิเศษแรก โดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ “เผยแพร่สันติภาพผ่านวิทยาศาสตร์และการพาณิชย์ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่”




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ คณะเทคนิคการแพทย์ International Peace Foundation (IPF) และการสนับสนุนของ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด โรงแรมดุสิตธานี แอนด์รีสอร์ท ธนาคารกสิกรไทย และ บีเอ็มดับเบิลยู เปิดปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ Dr. Sir Richard J. Roberts ในหัวข้อ “เผยแพร่สันติภาพผ่านวิทยาศาสตร์และการพาณิชย์ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่” (Spreading Peace through Science and Commerce in Emerging Economies) ภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน และในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566 โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงาน Mr. Uwe Morawetz, Founding Chairman of International Peace Foundation กล่าวรายงาน ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศ. ดร.อมรรัตน์ พงศ์ดารา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ ร่วมกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษา และนักเรียนในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 15 พ.ย. 66



สำหรับ ดร. เซอร์ ริชาร์ด เจ. โรเบิร์ตส์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ New England Biolabs ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ จากการค้นพบกลไกการแยกยีนส์และการต่อ mRNA เข้าด้วยกัน (Split Genes and mRNA Splicing)

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2535 ท่านได้ทำงานที่ Cold Spring Harbor Laboratory และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการวิจัยภายใต้ Dr. J.D. Watson ท่านได้เริ่มทำงานเกี่ยวกับเอนไซม์ตัดจําเพาะ ประเภท 2 (Type II Restriction Enzymes) ที่เพิ่งค้นพบในปี พ.ศ. 2515 และในอีกไม่กี่ปีถัดมามีการค้นพบเอนไซม์ดังกล่าวมากกว่า 100 ตัวและมีลักษณะเฉพาะในห้องปฏิบัติการของ ดร. โรเบิร์ตส์ ซึ่งจัดลำดับจีโนม นิวคลีโอไทด์ อะดีโนไวรัส-2 (Nucleotide Adenovirus-2 Genome) จำนวน 35,937 ตัว และได้สร้างบางส่วนของโปรแกรมแรกสำหรับการประกอบและวิเคราะห์ลำดับ



การค้นพบของ ดร. เซอร์ ริชาร์ด เจ. โรเบิร์ตส์ ได้เปลี่ยนวิธีคิดของนักชีววิทยาเกี่ยวกับเรื่องยีนส์ไปอย่างสิ้นเชิงและนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างแน่วแน่ในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงการวิจัยโรคมะเร็งด้วย




นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 55 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคใต้และประเทศ ทั้งในด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม การบริการวิชาการ และการดูแลสุขภาพ ซึ่งกิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา และผู้เข้าร่วมงานทุกคน สู่การยกระดับชุมชนและสังคมให้ดียิ่งขึ้น



ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 55 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้นำในด้านวิชาการและนวัตกรรมทั้งในภาคใต้และระดับประเทศ โดยกิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566 แล้ว ยังเป็นการสร้างการรับรู้แก่เครือข่ายการวิจัย และเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาสังคมที่ดีขึ้น



มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลจำนวน 5 ท่าน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 โดยมีคณะต่าง ๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งกำหนดจัดอีกครั้ง ดังนี้

คณะวิทยาศาสตร์ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00 น. หัวข้อ The importance of science for peace-building โดย Prof. Takaaki Kajita ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ณ ห้องประชุม L1 ศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ์ เชยจิตร คณะวิทยาศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. หัวข้อ Personalized medicine revolution : Are we going to cure all diseases and at what price? โดย Prof. Aaron Ciechanover ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์

คณะเศรษฐศาสตร์ วันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 14.00 น. หัวข้อ The prospects for global financial stability โดย Prof. Robert F. Engle III ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ณ ห้อง Conference Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ม.อ.

คณะแพทยศาสตร์ วันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 น. หัวข้อ The role of basic science in biotechnology โดย Prof. Randy W.Schekman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์