ข่าวชาวสงขลานครินทร์

โครงการวิจัยขับเคลื่อนการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน โดย บพข. ปณท และ ม.อ. ร่วมนำเสนอผลงานในการประชุม 2023 Asia-Pacific Solutions Forum (APSF)




โครงการพัฒนา Net Zero Emissions Execution Roadmap and Tools เพื่อขับเคลื่อนการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ ร่วมทุนวิจัยโดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้รับเลือกให้เข้าร่วมการนำเสนอผลงานในนามตัวแทนของ SDSN Thailand ในเวทีการประชุม 2023 Asia-Pacific Solutions Forum (APSF) จัดโดย UN Sustainable Development Solution Network เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ณ Sunway Resort Hotel, Kuala Lumpur ประเทศมาเลเซีย โดยในปีนี้มีโครงการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการนำเสนอทั้งหมด 6 โครงการจากประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์



รศ. ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินร์ และ หัวหน้าโครงการวิจัย ได้นำเสนอวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อจัดทำแผนที่นำทาง แผนปฎิบัติการ และกลยุทธ์การดำเนินงาน ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Long Term Low Greenhouse Gas Emissions Development Strategy) ของประเทศไทย โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นตัวอย่างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน (University-Industry Partnership) ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 



นอกจากนี้ ภายใต้การดำเนินโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยังได้เปิดตัวโครงการ “Green Parcel: University Actions Towards Net Zero Emissions” ในการสนับสนุนการขนส่งไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Parcel) ผ่านแคมเปญต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษา ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการขนส่งพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ เช่น แคมเปญ ReBox ในการนำขยะที่เกิดจากการขนส่งพัสดุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ เป็นการรณรงค์ให้นักศึกษาช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากการขนส่งโดยนำไปคืนที่จุดรับของไปรษณีย์ไทย เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ (Reuse) หรือแปรรูปเป็นสิ่งของ (Recycle) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป และแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็น Hub and Spoke ในการกระจายพัสดุภัณฑ์สำหรับบุคลากรและนักศึกษาเพื่อการลด CO2 emissions จาก Last Mile Delivery 

โดย รศ. ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต ได้กล่าวตอนท้ายของการนำเสนอ ว่า “Sustainable can be driven by research and apply to university practices to create impacts by engage and connect staff and students with university sustainable projects”



สามารถรับชมการประชุม Asia Pacific Solutions Forum 2023 ย้อนหลังได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=6deC5wUBMOg&t=2289scific