ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ครบรอบ 2 ปี การรักษาผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด รพ.ม.อ. พร้อมยกระดับเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพสู่สากล




โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดงาน “2nd Anniversary Robotic Surgery PSU ยกระดับเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพสู่สากล เพื่อพี่น้องชาวใต้” เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี การรักษาผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด ของทีมแพทย์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด ที่มีความปลอดภัย รองรับการผ่าตัดผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน อีกทั้งยังเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดตัวเดียวในภาคใต้ ภายในงานนอกจากจะมีกิจกรรมเสวนาให้ความรู้แล้ว ยังมีการเชิญผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และผู้ป่วยสูงอายุ มาร่วมพูดคุยเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับโรคและการเข้ารับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ณ ลานเวทีสุขภาพ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา



ดร.พญ.ปิยะนันท์ วังกุลางกูร ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาด้วยหุ่นยนต์ จากสาขาวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรก และแห่งเดียวในภาคใต้ ที่ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) มาช่วยผ่าตัดรักษาผู้ป่วย โดยการผ่าตัดชนิดนี้แพทย์จะเป็นผู้ควบคุมแขนหุ่นยนต์ที่ประกอบไปด้วยกล้องสามมิติเสมือนจริง และแขนปฏิบัติการอีก 3 แขนที่สามารถหักงอข้อมือได้ 7 ทิศทาง ผ่านแผลขนาดเล็ก เป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมของมนุษย์ ทำให้ศัลยแพทย์สามารถเข้าถึงบริเวณที่แคบและซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น โดยหุ่นยนต์มีความแม่นยำและภาพกำลังขยายระดับสูง ทำให้ลดโอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาท และอวัยวะข้างเคียง ลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด ผู้ป่วยมีแผลขนาดเล็ก เจ็บน้อยลง และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นลง สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันปกติได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยมีดัชนีมวลกาย (BMI) สูง และผู้ป่วยสูงอายุ การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์สามารถรองรับการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีโรคหลากหลาย อาทิ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลําไส้ ไส้เลื่อน มะเร็งมดลูกและทางนรีเวช มะเร็งโคนลิ้น และมะเร็งปอด เป็นต้น



ในระยะเวลา 2 ปีของการให้บริการ ทางโรงพยาบาสงขลานครินทร์ได้ผ่าตัดช่วยเหลือผู้ป่วยไปทั้งสิ้น 350 ราย ซึ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคไส้เลื่อนทุกประเภท โรคมะเร็งลำไส้ และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยปัจจุบันการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก มีข้อมูลทางวิชาการรองรับและถือเป็นมาตรฐานระดับโลก



ทีมแพทย์ได้ทำการผ่าตัดโรคไส้เลื่อนทุกประเภททั้งสิ้น 80 ราย ถือเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากในโรคไส้เลื่อนมีความซับซ้อน อวัยวะสำคัญของผู้ป่วยมีโอกาสบาดเจ็บได้ การผ่าตัดจึงต้องการความแม่นยำสูง หลังจากเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยความเสี่ยงสูง และการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ใช้ระยะเวลาฟื้นตัวสั้นเพียง 1-2 วันในโรงพยาบาล