รองนายกฯ ชื่นชม โรงเพาะฟักสัตว์น้ำ ม.อ.ปัตตานี พร้อมหนุนขยายการเพาะพันธุ์ “ปูดำหรือปูทะเล” ยกระดับเศรษฐกิจชายแดนใต้
รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพต. เยี่ยมชมโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวชื่นชมและพร้อมสนับสนุน ม.อ.ปัตตานี ขยายการเพาะพันธุ์ “ปูดำหรือปูทะเล” ให้ทันต่อความต้องการของเกษตรกร ยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เยี่ยมชมโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และติดตามความคืบหน้าการขยายผลความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ “ปูดำหรือปูทะเล” ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเพาะพันธุ์ในรูปแบบการเพาะฟักโดยแม่พันธ์ไข่นอกกระดอง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 โดยมี รศ. ดร.ซุกรี หะยีสาแม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวรายงานด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปู ด้านศักยภาพของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับรองรับการเพาะเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่และการดำเนินงานในปัจจุบัน และข้อเสนอแนวทางการพัฒนาและส่งเสริม พร้อมด้วย นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนจังหวัดปัตตานี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดย ผศ. ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี ผศ. ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ วิทยาเขตปัตตานี อาจารย์วรัญญา เต็มรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ วิทยาเขตปัตตานี รศ. ดร.กรรณิการ์ สหกะโร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนอาจารย์และนักวิจัยด้านการประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้การต้อนรับและนำชมโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ
รศ. ดร.ซุกรี หะยีสาแม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ปูทะเลหรือเรียกกันว่าปูดำถือว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภค มีรสชาติที่ดีและราคาที่แพง การขาดแคลนแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดองเพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์และอนุบาล เป็น pain point และคอขวดสำคัญที่ส่งผลให้การเพาะและขยายพันธุ์ปูทะเลในประเทศไทยยังประสบความสำเร็จไม่มากนัก ส่งผลต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปูทะเลของประเทศ โดยธรรมชาติการผสมพันธุ์ของปูเกิดขึ้นหลังจากตัวเมียลอกคราบใหม่ ๆ ปูเพศผู้จะเข้าผสมพันธุ์และปล่อยถุงน้ำเชื้อเก็บไว้ในปูเพศเมีย เมื่อไข่พัฒนาเต็มที่ปูเพศเมียจะปล่อยไข่ออกมาผสมกับน้ำเชื้อแล้วนำไข่มาเก็บบริเวณจับปิ้งซึ่งจะเรียกว่าปูไข่นอกกระดอง การจัดหาแม่พันธุ์ปูไข่นอกกระดองจากธรรมชาติถือว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากโดยปกติปูทะเลจะอาศัยบริเวณชายฝั่งป่าชายเลน แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องปล่อยไข่ให้ออกไปอยู่นอกกระดอง ปูจะว่ายน้ำในช่วงที่ไข่ยังอยู่ในตัวเพื่อไปหาแหล่งที่เหมาะสมที่ระดับความลึกราว 30 -50 เมตร บริเวณนอกชายฝั่ง คณะนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดปัตตานี จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการกระตุ้นแม่พันธุ์ปูทะเลให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดองขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแม่พันธุ์ปูทะเลที่มีไข่นอกกระดองโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จนได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ
นอกจากนี้ ได้พัฒนาโรงเรือนสำหรับเลี้ยงแม่ปูโดยใช้หลักการจำลองสภาพแวดล้อมสมือนกับการที่ปูอาศัยอยู่บริเวณท้องทะเลตามธรรมชาติ โดยคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับแสง คุณภาพน้ำ การถ่ายเทและหมุนเวียนน้ำ อาหารและการให้อาหาร ทรายรองพื้นสำหรับปล่อยไข่ และหลีกเลี่ยงการรบกวนปู ระบบและวิธีนี้สามารถกระตุ้นให้แม่ปูที่มีไข่ในกระดองให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดองมาเก็บไว้บริเวณส่วนจับปิ้งและฟักออกมาเป็นลูกปูระยะซูเอียได้ร้อยละ 75-85 จากการนำปูเข้าสู่ระบบเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ปัจจุบันแม่ปูทะเลที่มีไข่นอกกระดองหรือลูกปูระยะซูเอียที่ผลิตได้จากโครงการวิจัยฯ ได้ถูกส่งมอบให้แก่หน่วยงานที่สนใจเพื่อนำเอาลูกปูไปอนุบาลต่อไปเพื่อให้บริการแก่เกษตรกรและการเพิ่มปริมาณปูทะเลในแหล่งน้ำธรรมชาติ