ข่าวชาวสงขลานครินทร์

รองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง เชื่อมั่นศักยภาพ ม.อ.ตรัง ช่วยยกระดับเศรษฐกิจพื้นที่ด้วยนวัตกรรมและบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม




    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ รักษาการแทนรองอธิการบดี วิทยาเขตตรัง เปิดเผยกับสื่อมวลชนในโอกาสการเข้าเยี่ยมชมผลงานทางวิชาการ และภารกิจในฐานะแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการแก่ชุมชนและสังคมของวิทยาเขตตรัง ตามโครงการเครือข่ายสัมพันธ์สงขลานครินทร์ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ว่า



    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง แม้จะเป็นวิทยาเขตขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 4 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้มีบทบาทในฐานะมันสมองและมีส่วนสำคัญในการวางแผนพัฒนาจังหวัดตรัง ในเรื่องของนวัตกรรมและการขับเคลื่อนสังคม นอกเหนือจากภารกิจด้านวิชาการในฐานะสถาบันอุดมศึกษา โดยมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชนและชุมชน และยังมีภาคีเครือข่ายที่มาร่วมทำงานทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ 



    นอกจากนั้น ใน 2 คณะของวิทยาเขตตรังคือคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ยังมีการพัฒนาด้านการเรียนการสอน การวิจัยและบริการวิชาการ เพื่อนักศึกษาที่เข้ามาเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยจะได้รับความรู้ วิทยาการใหม่ๆ และมีความสามารถในการนำวิชาการไปขับเคลื่อนสังคมทำให้สังคมเกิดคุณค่า เช่น คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ที่นอกจากจะเปิดสอนในหลากหลายสาขาวิชาแล้ว ในอนาคตอันใกล้จะมีส่วนที่เรียกว่า Business Innovation center หรือ BIC ซึ่งจะมีการสร้างความร่วมมือกับเอกชนในการยกระดับเศรษฐกิจของภาคใต้และของประเทศ 



    วิทยาเขตตรังยังได้ร่วมจัดงานยางพาราแห่งชาติครั้งที่ 1 Rubber Expo 2023 โดยร่วมกับจังหวัดตรัง การยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภายในจังหวัดตรังทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางพารา รวมทั้งเป็นการสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างภาคธุรกิจและภาคเอกชนในจังหวัดตรังในเรื่องที่เกี่ยวกับยางพารา โดยการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนที่ทำธุรกิจด้านยางพารา รวมทั้งร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า ธุรกิจขายปลีกขายส่งรายใหญ่ โดยเชื่อว่าตรังสามารถเป็นศูนย์กลางธุรกิจในภาคใต้ได้ในอนาคต 



    ส่วนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ของวิทยาเขตตรัง เป็นคณะที่มีการเรียนการสอนที่ทันสมัย เช่น มีการนำเทคโนโลยี AI มาเป็นช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนการออกแบบออกแบบ ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขผลงานได้ง่ายขึ้น  และยังมีการจัดตั้งศูนย์ออกแบบนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรม เพื่อให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติในสาขาที่ได้ศึกษา



    “วิทยาเขตตรังยังมีการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เช่นสมัชชาเครือข่ายสุขภาพ ซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนระบบสุขภาพ ใน 4 เรื่องใหญ่ คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางมนุษย์และการลดความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมทางสังคม และ ความมั่นคงทางสุขภาพ ซึ่งทั้งวิทยาเขตตรังและทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด” รักษาการแทนรองอธิการบดี วิทยาเขตตรัง กล่าวตอนท้าย