ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ.ปัตตานี เปิดงาน ม.อ.วิชาการ ชูมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม สังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดงาน ม.อ.วิชาการ นำเสนอนวัตกรรมและผลงานวิชาการ ชูประเด็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม สังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี ผศ. ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธาน และ ผศ. ดร.วรภาคย์ ไมตรีพันธ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวรายงาน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 และออนไลน์ผ่านทาง Facebook : :psupattanicampus 




    ผศ. ดร.วรภาคย์ ไมตรีพันธ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กำหนดจัดงาน ม.อ.วิชาการ เพื่อเผยแพร่ภารกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และศิลปวัฒนธรรมให้สาธารณชนรับทราบ รวมทั้งบูรณาการการทำงานให้สังคมมีความเชื่อมั่นในผลงานของมหาวิทยาลัย โดยเผยแพร่ความรู้ วิทยาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เป็นแบบอย่าง การต่อยอดองค์ความรู้สู่การพัฒนา และสร้างการมีส่วนร่วมจากคณะและหน่วยงาน ในปี 2566 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 6 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และอันดับ 901 - 950 ของโลก โดย QS World University Rankings 2024 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดเป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียนที่มีความโดดเด่นด้านวิชาการ วิจัย และพันธกิจสังคม โดยดำเนินภารกิจที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การเพิ่มขีดความสามารถพื้นที่ด้วยทุนทรัพยากรธรรมชาติ ลดความเจ็บป่วย ลดความยากจน ลดความไม่รู้หนังสือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงจัดงาน ม.อ.วิชาการ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด ม.อ.สืบต่อปณิธานสานประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม สังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน”



    ผศ. ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า งาน ม.อ.วิชาการ ในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ม.อ.สืบต่อปณิธาน สานประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม สังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน” นับเป็นการแสดงถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สังคมได้ประจักษ์ถึงผลงานด้านวิชาการ ผลงานวิจัย และการบริการวิชาการ ทั้งการเผยแพร่ผลงาน วิทยาการ เทคโนโลยี การคิดค้นนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ การใช้องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือและบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านพันธกิจสังคมและพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น