ข่าวชาวสงขลานครินทร์

โครงการ Erasmus+ หนุน ม.อ.ภูเก็ต พัฒนาคนด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเทคโนโลยีดิจิทัล




    โครงการ Erasmus+ ให้ทุนพัฒนาทรัพยากรบุคคล ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเสริมศักยภาพฐานความรู้ดิจิทัล แก่ คณะการบริการและการท่องเที่ยว และ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ วิทยาเขตภูเก็ต ทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากขึ้น



    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เข้าร่วมโครงการ Erasmus+ ซึ่งเป็นโครงการของสหภาพยุโรปที่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและมหาวิทยาลัยพันธมิตร ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคล พัฒนาคุณภาพ หลักสูตรร่วมใหม่ๆ และพัฒนาการเรียนการสอนที่ทันสมัยของสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน ได้มีคณะต่างๆ ได้เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 19 โครงการ นับเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินโครงการ Erasmus+ มากที่สุดของประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากขึ้น และล่าสุดในปี 2566 นี้ โครงการ Erasmus+ ได้ให้การสนับสนุนคณะวิชาในวิทยาเขตภูเก็ต คือ คณะการบริการและการท่องเที่ยว และวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ระยะเวลา 3 ปี ใน 3 โครงการ ได้แก่



    โครงการ INNO4Tourism เป็นการเน้นการยกระดับ พัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการผลิตบัณฑิตและบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเน้นสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มหาวิทยาลัยในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ที่จะพัฒนาการเรียนการสอนที่นอกเหนือจากภาคการศึกษาปกติ  ที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น และฝึกอบรมอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการบริการและการท่องเที่ยว

    โครงการทุนแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษากับมหาวิทยาลัยในประเทศยุโรป คือ อิตาลี ออสเตรีย เยอรมัน และ ฟินแลนด์ 



    โครงการ Enhancing Sustainability and Circular Economy Education (KODECET) เพื่อพัฒนาศูนย์เสริมสร้างศักยภาพฐานความรู้ดิจิทัล ที่จะสนับสนุนการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ในตลาดเกิดใหม่ เช่น อินเดียและไทย เพื่อเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในประเทศอินเดียและไทย ส่งเสริมการประสานงานและการจัดการที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานการจัดโครงการและการรับรองคุณภาพ และ สร้างบรรยากาศที่รวมทุกคนในโครงการให้มีความรับผิดชอบและมีความเท่าเทียมกัน โดยมีความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยในประเทศ Finland Austria India มหาวิทยาลัยพายัพ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์