ข่าวชาวสงขลานครินทร์

‘พญ.นันทกา เทพาอมรเดช’ แพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2566




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย คณะแพทยศาสตร์ จัดประชุมวิชาการประจำปี คณะแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 38 ภายใต้หัวข้อ “NOVEL MEDICINE FOR MANKIND การแพทย์ทันสมัย เพื่อเพื่อนมนุษย์” วันที่ 9 - 11 สิงหาคม 2566 และมอบรางวัล “แพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2566" แก่ พญ.นันทกา เทพาอมรเดช นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ แพทย์เฉพาะทาง สาขาประสาทศัลยศาสตร์ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลยะลา โดย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มอบโล่รางวัล รศ. นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มอบเงินรางวัล ณ ห้องทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 66



    พญ.นันทกา เทพาอมรเดช สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จากโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลยะลาและโรงพยาบาลห้วยยอด จากนั้นได้รับทุนจากโรงพยาบาลยะลาเข้าฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาประสาทศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งใจไว้ว่าเมื่อกลับมาปฏิบัติงานประสาทศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลยะลาครบ 3 ปีแล้วจะกลับไปเป็นอาจารย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ด้วยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดแคลนประสาทศัลยแพทย์ ประกอบกับได้เห็นความทุกข์ยากของคนในพื้นที่ จึงได้ตัดสินใจอยู่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลยะลาต่อจนถึงปัจจุบัน



    พญ.นันทกา ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่ซับซ้อน ซึ่งคนไข้ด้านศัลยประสาทมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลยะลาสามารถดูแลคนไข้ด้านสมองได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการส่งต่อ เนื่องจากบริบทผู้ป่วยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความลำบากในการเดินทาง ขณะนี้โรงพยาบาลยะลาสามารถทำผ่าตัดส่องกล้องสมองและไขสันหลัง (Endoscopic spine Endoscopic brain), ผ่าตัดผู้ป่วยแบบตื่น (awake craniotomy under intraoperative neuromonitoring) ได้เอง




    การเป็นคนทำงาน และเป็นนักพัฒนาเชิงรุก ทำให้ พญ.นันทกา ได้จัดทำโครงการเยี่ยมบ้านคนไข้ เพื่อติดตามคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังจากที่ได้รับการผ่าตัดสมองแล้ว ให้ได้รับการดูแลอย่างครบวงจร นอกจากนี้ พญ.นันทกา ยังได้ทำงานด้านบริหารงานคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญเกี่ยวกับการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก ในการดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลสนามและคนไข้ในระบบ home isolation ซึ่งมีผู้ป่วยประมาณ 1,000 รายต่อวัน



    พญ.นันทกา เทพาอมรเดช กล่าวว่า การทำงานเป็นแพทย์ยอมรับว่าบางครั้งก็หนักและเหนื่อย แต่ถ้าเทียบกับอาชีพอื่น ยังมีอีกหลายอาชีพที่หนักและเหนื่อยมากกว่า บางคนอาจเหนื่อยกาย บางคนอาจเหนื่อยใจ แต่สิ่งที่เราได้จากการเป็นหมอ คือ การได้เห็นคุณค่าในตนเอง การได้ช่วยชีวิตคนอื่น หมอชอบเวลาออกตรวจคนไข้ ชอบเวลาที่ได้เห็นคนไข้เดินกลับบ้านได้เหมือนปกติ ทั้งที่ตอนมาหาหมอครั้งแรก คนไข้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจติดตัวมาด้วย การได้เห็นคนในครอบครัวคนไข้มารอรับ สิ่งเหล่านี้ คือ “รางวัล” ที่เราหาซื้อไม่ได้



    “ขอบคุณคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เห็นหมอตัวเล็กๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแม้หมอไม่ได้เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่หมอก็รู้สึกภูมิใจที่แม้ว่าเราจะทำงานอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ทำงานอยู่ในจุดเล็กๆ แต่ยังมีคนมองเห็นว่าเรามีคุณค่า จะพยายามทำตัวให้ดีขึ้น ให้เหมาะสมกับรางวัลที่ได้ ขอบคุณพ่อแม่ที่ให้เราเกิดมา เลี้ยงดูเรา ยอมให้เราได้ทำในสิ่งที่อยากทำ พร้อมสนับสนุนทุกอย่าง อีกคนที่จะขอบคุณคือ คนไข้ ที่ให้โอกาสหมอได้รักษา ให้หมอได้มีโอกาสได้ผ่าตัด ขอบคุณที่ไว้วางใจ ขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่โรงพยาบาลยะลา เพราะถ้าไม่มีทีมสนับสนุนหมอก็ทำหน้าที่และช่วยเหลือคนไข้ไม่ได้ หมอโชคดีที่ได้อยู่ในสังคมที่ดี และมีสิ่งรอบตัวที่ดี” พญ.นันทกา กล่าว