ข่าวชาวสงขลานครินทร์

นักวิชาการ ม.สงขลานครินทร์ เผย พบไมโครพลาสติกในสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง มากกว่าร้อยละ 50




นักวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุ พบไมโครพลาสติกมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ศึกษาในทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ชี้ประเทศไทยต้องกำจัดขยะพลาสติกอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หากทุกประเทศร่วมมือกัน คาดว่าในอนาคตการลดปริมาณขยะพลาสติกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

    รศ. ดร.ประวิทย์ โตวัฒนะ อาจารย์คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “ไมโครพลาสติก” คือ ขยะพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า หรือมองเห็นได้ยาก จะเข้าไปปนเปื้อนทั้งในดิน น้ำ และอากาศ จึงไม่สามารถมองเห็นและแยกออกได้ การกำจัดหรือทำความสะอาดจึงทำได้ยาก ไมโครพลาสติกมีการปนเปื้อนทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ซึ่งเกิดจากพลาสติกชิ้นใหญ่ ที่ถูกแสงแดด น้ำ และคลื่นลมในทะเลซัด และกระแทกจนแตกหักเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆ จนกระทั่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร 



    ไมโครพลาสติกสามารถดูดสารพิษที่อยู่ในน้ำ เช่น โลหะหนัก และสารอินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น สารกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล ดังนั้น หากไมโครพลาสติกอยู่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน จะทำการดูดซึมสารพิษเหล่านี้มาสะสมในตัวของมันเองเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กมาก และลอยอยู่ในน้ำทะเล จึงไปปะปนกับแพลงก์ตอน สะสมอยู่ที่ผิวหน้าดินและผิวน้ำทะเล ส่งผลให้สัตว์ตามหน้าดินและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ บริโภคเข้าไป ไมโครพลาสติกจึงเข้าไปสะสมในสัตว์หน้าดิน จากนั้นสัตว์ทะเลอื่นๆ มาบริโภคสัตว์หน้าดินเป็นอาหาร จึงไปสะสมในสัตว์น้ำชนิดต่างๆ และเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์และเมื่อมนุษย์นำเอาสัตว์ทะเลนั้นมาบริโภค โอกาสที่ร่างกายมนุษย์จะได้รับสารพิษชนิดต่างๆ จึงมีมาก อีกทั้ง ไมโครพลาสติกตัวของมันเองยังมีศักยภาพในการปลดปล่อยสารเป็นพิษเองด้วย เนื่องจากกระบวนการผลิตพลาสติกมีการใส่สารเคมีชนิดต่างๆ เพื่อปรุงแต่งที่ทำให้พลาสติกมีคุณสมบัติต่างๆ ตรงกับตามความต้องการของผู้บริโภค อาทิ สี และความยืดหยุ่น ซึ่งสารปรุงแต่งเหล่านี้บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

    รศ. ดร.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า จากการวิจัยเมื่อปี 2560 ได้นำปลาที่จับได้โดยชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อำเภอสทิงพระที่วางจำหน่ายในตลาดสดของชุมชนประมาณ 10 กว่าชนิด ทั้งปลาผิวดิน ปลาหน้าดิน และปลาที่อยู่ตามแนวปะการังมาผ่าพิสูจน์ พบไมโครพลาสติกประมาณมากกว่า 50% ของจำนวนปลาตัวอย่างทั้งหมดที่ศึกษา นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังลงพื้นที่ทำการศึกษาที่เกาะลิบง จ.ตรัง โดยการเก็บตัวอย่างของสัตว์น้ำมาศึกษาผลการศึกษา พบว่ามีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอีกเช่นเดียวกัน บ่งบอกได้ว่าในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกเป็นจำนวนพอสมควร อย่างไรก็ตาม ปริมาณไมโครพลาสติกที่มีการปนเปื้อนอยู่ในสัตว์ทะเลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีปริมาณมากกว่าที่พบในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

    ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางทีมวิจัยได้ทำการศึกษาในพื้นที่ชายฝั่งบริเวณอำเภอสทิงพระเพื่อเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ผลการศึกษา พบว่า ไมโครพลาสติกชนิดต่างๆ ส่วนมากปลดปล่อยออกมาจากเนื้อผ้าสังเคราะห์ เนื่องจากเมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ไม่มีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเลต่างๆ และการทำประมง ประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านซักผ้า เครื่องซักผ้ามีการปล่อยพอลิเมอร์ที่มีอยู่ในเนื้อผ้าที่ปะปนกับน้ำทิ้งของเครื่องซักผ้าและไหลลงสู่แม่น้ำ และลงสู่ทะเลในที่สุด ในอนาคตเครื่องซักผ้ารุ่นใหม่ๆ ควรจะต้องมีใส่กรองไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชุดด้วย



    สำหรับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยนั้นต้องมีการกำจัดขยะพลาสติกอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามหลัก 4R คือ Reduce หรือลด, Reuse หรือใช้ซ้ำ, Recycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ และ Repair หรือการซ่อมบำรุง ซึ่งการนำไบโอพลาสติกมาใช้แทนพลาสติกจากน้ำมันปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ติดปัญหาที่ต้นทุนของไบโอพลาสติกสูงกว่าพลาสติกจากน้ำมันปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติประมาณ 4-5 เท่า ผู้ประกอบการจึงไม่นิยมนำไบโอพลาสติกมาใช้ ดังนั้น อาจจะต้องมีมาตรการทางภาษีเพื่อทำให้ราคาของไบโอพลาสติกใกล้เคียงกันกับพลาสติกทั่วไป และหน่วยงานของภาครัฐจะต้องเป็นตัวอย่างที่ไม่ใช้ภาชนะพลาสติกในสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ ต้องมีระบบการจัดการขยะบนบกที่ดี เนื่องจากขยะพลาสติกที่ลงไปในน้ำส่วนใหญ่เป็นขยะที่อยู่บนบก ต้องมีกระบวนการจัดการที่ดี เพื่อไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง หรือท้องทะเล อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์ การสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชน ต้องให้ความรู้และสร้างความตระหนักตั้งแต่เป็นเยาวชนในการใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่ทดแทนการใช้พลาสติกได้

    “ทั่วโลกให้ความสำคัญและตระหนักเรื่องขยะพลาสติก ถ้าทุกประเทศให้ความร่วมมือคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในการลดปริมาณขยะพลาสติกลง เนื่องจากการย่อยสลายขยะพลาสติกต้องใช้เวลาหลายร้อยปี ดังนั้น ทุกคนควรลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นตั้งแต่ตอนนี้” รศ. ดร.ประวิทย์ กล่าว