ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ร่วมกับ เครือข่าย จัดงานสร้างสุขภาคใต้ ขับเคลื่อนความมั่นคง 4 ด้าน “อาหาร สุขภาพ มนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถาบันนโยบายสาธารณะ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ แถลงข่าวการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13 “ภาคใต้แห่งความสุขเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคต “สุข สู่ สุขภาวะ” และ การประชุมวิชาการเรื่อง “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน : โอกาส และความท้าทาย” โดยมี ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ ม.อ. พร้อมด้วย นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี นายประดิษฐ์ นิจไตรรัตน์ ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และนายแพทย์วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 ร่วมแถลงข่าว ณ ห้อง 1401 ชั้น 14 สถาบันนโยบายสาธารณะ อาคารสำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลงฯ ตึก LRC (อาคาร 1) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 66




    ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า การจัดงานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ "ภาคใต้แห่งความสุขเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคต สุข สู่ สุขภาวะ" และการประชุมวิชาการ เรื่อง "การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคตที่ยั่งยืน:โอกาส และความท้าทาย" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยความร่วมมือของภาคเครือข่ายภาคใต้ ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ประชาสังคม ประชาชน เครือข่ายสื่อมวลชน และภาคเอกชน มีเป้าหมายร่วมกันขับเคลื่อนงาน "ภาคใต้แห่งความสุข" เพื่อให้คนใต้มีความมั่นคง 4 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางมนุษย์ และความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสานพลังความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน




    งานสร้างสุขภาคใต้จัดมาแล้ว 12 ครั้ง ในระยะแรกเป็นรูปแบบ “โชว์ แชร์ เชื่อม” เน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย และสลับกับการจัดงานสมัชชาสุขภาพภาคใต้ เน้นกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านกลไกสมัชชาจังหวัดและสมัชชาภาคใต้ ต่อมาได้จัดงานสร้างสุขร่วมกับงานสมัชชาสุขภาพ มีการกำหนดวาระสร้างสุขภาคใต้ 4 ประเด็น คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางมนุษย์ และความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการยกระดับงานในพื้นที่สู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และขับเคลื่อนข้อเสนอในปีถัดไปโดยกลไกความร่วมมือในพื้นที่ ระหว่าง สสส. สช. สปสช. กระทรวงสาธารณสุข พชอ. หน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนในลักษณะประสานงาน เสริมพลัง บูรณาการข้ามเครือข่าย ข้ามประเด็น เพื่อให้ข้อเสนอที่มาจากพื้นที่เกิดการขับเคลื่อนและยกระดับเข้าสู่แผนของหน่วยงาน