ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.สงขลานครินทร์ สนธิกำลังคณะแพทย์ พยาบาล เภสัช ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันละ 2,000 คน




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เชิญชวนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 คณะแพทย์ พยาบาล เภสัช สนธิกำลัง ขยายการให้บริการฉีดวัคซีน วันละ 2,000 คน ใช้สถานที่ อาคารศูนย์กีฬาและนันทนาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รองรับการบริการฉีดวัคซีน



    ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และพี่น้องชาวสงขลานครินทร์ ขอเชิญพร้อมใจกันฉีดวัคซีนอย่างพร้อมเพรียง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ ประเทศไทยต้องรอด ภาคใต้ต้องรอด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอเชิญชวนทุกท่านฉีดวัคซีนโดยเร็วทั่วประเทศครับ



    รศ. นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า ขณะนี้มีความพร้อมในการให้บริการฉีดวัคซีน ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอายุเกิน 60 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง รวมทั้งบุคลากร และบุคคลทั่วไป โดยมีการผนึกกำลังกันของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้สามารถให้บริการได้วันละ 2,000 คน โดยสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม หรือมาลงทะเบียนได้ที่ศูนย์ C plus ตรงข้ามงานเวชระเบียน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ในเวลาราชการ โดยจะพิจารณาใช้สถานที่ฉีดวัคซีนที่อาคารศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี



    คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแพร่กระจายเชื้อโรคนี้มีอยู่เป็นระยะ การใส่หน้ากากและการล้างมือเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ดี แต่การแก้ไขที่ต้นเหตุจริงๆ นั้นต้องมีการสร้างภูมิต้านทานให้ทุกคนด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน และขอให้ความมั่นใจว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้เรามีภูมิต้านทานและโอกาสที่จะติดเชื้อจะน้อยลง สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าหากติดเชื้ออีกก็จะสามารถลดความรุนแรงของอาการลงได้ และหากประชาชนในประเทศได้รับวัคซีนจำนวนมากกว่าร้อยละ 70% ก็จะสามารถหยุดโอกาสของการแพร่กระจายของโรคในประเทศได้ ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว จะเป็นผู้มีภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถมาร่วมบริจาคพลาสมา เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการมากซึ่งจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยรายอื่นๆ