ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ.ภูเก็ต ร่วมกับ เครือข่าย พัฒนาแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์สู่จักรวาลนฤมิตร




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์สู่จักรวาลนฤมิตร (Artificial Intelligent Platform Development for Metaverse Historical Tourism : AI-MHT)” โดยมี รศ. ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ดร.กาญจนา เหล่าเส็น หัวหน้าศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ นายกสมาคมสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ผศ. ดร.หิรัญ ประสานการ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ศ. ดร. วรรณา ชูฤทธิ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผศ. ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตลอดจนคณะผู้บริหาร และนักวิจัยจาก 6 หน่วยงาน ร่วมลงนาม เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา



    ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยบูรณาการองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ ระบบจำลองเสมือนจริง ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ร่วมกับความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนด้วยทุนวัฒนธรรมที่มี โดยมีเป้าหมายการวิจัยและพัฒนาการวางรากฐานและการสร้างองค์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์และอารยธรรมไทยในสมัยสุวรรณภูมิเพื่อสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม เมืองประวัติศาสตร์ และเมืองมรดกโลกให้สอดรับกับทิศทางและแนวโน้มของตลาดยุคใหม่ผ่านระบบออนไลน์และอินเตอร์เน็ตในรูปแบบการท่องเที่ยวเสมือนจริงไปยังนานาชาติตลอดจนเพื่อผลักดันให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ อันจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในชุมชนที่เกี่ยวข้องได้



ศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (AI-TaSI) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมพัฒนางานวิจัยนี้โดยมีทีมอาจารย์และนักวิจัยจากศูนย์วิจัยเป็นกำลังสำคัญในการนำองค์ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ดิจิทัลเทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากชาวไทยและต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดระนอง ชุมพร ทั้งนี้ เมื่อระบบถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมถึงจังหวัดภูเก็ตที่เป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ด้วย