ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ.เชื่อมโยง PSU System สู่การขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (SDGs)




    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีฝ่ายระบบสารสนเทศและวางแผน วิทยาเขตปัตตานี กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการการพัฒนาด้านความยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำเสนอเรื่องของ การขับเคลื่อนการดําเนินการเรื่อง การพัฒนาด้านความยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ก.บ.ม.) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 โดยกล่าวว่า



    ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการดำเนินการในด้านการพัฒนาด้านความยั่งยืน ใน 4 เรื่องใหญ่คือ การจัดประชุมสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) เมื่อระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2563 ที่จังหวัดภูเก็ต การดําเนินงานเรื่อง มหาวิทยาลัยสีเขียว การดําเนินงานเรื่อง UI GreenMetric และ เรื่องเครือข่าย Promotion of Sustainability in Postgraduate Education and Research through Networking หรือ ProSPER.Net โดยที่ชัดเจนคือเรื่องของ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ที่ได้มีการดำเนินการในหลายเรื่อง ทั้งด้านกายภาพที่มีการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านน้ำ การจัดการขยะ และระบบขนส่ง โดยทั้ง 5 วิทยาเขตของ

    มหาวิทยาลัยมีทั้งการจัดการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และมีที่แตกต่างในบางด้านตามบริบทของแต่ละวิทยาเขต และเพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาตามเป้าหมาย SDGs ของมหาวิทยาลัยเป็นนโยบายสําคัญลําดับต้นๆ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงได้แต่งต้ัง “คณะกรรมการการพัฒนาด้าน ความยั่งยืน เพื่อให้เกิดการทํางาน อย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงของ PSU System มีความเป็นหนึ่งเดียว มีการสื่อสาร แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง 5 วิทยาเขต

    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการดําเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนท้ังในด้านของการจัดการด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม และองค์ความรู้ ตามกรอบแนวทาง SDGs ขององค์การสหประชาชาติ โดยผ่านกระบวนการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัย และการแลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากร การวิจัยร่วม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดําเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ถือเป็นวาระระดับประเทศและเป็น Theme ระดับโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสําคัญและให้การสนับสนุนในการขับเคลื่อนการดําเนินงาน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดําเนินการ เรื่อง SDGs อยู่ในหลายมิติ กระจายไปตามคณะและวิทยาเขต



    อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาของสงขลานครินทร์ จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของระบบที่ต้องทําร่วมกัน มีข้อตกลงร่วมกัน สามารถร่วมถ่ายทอดการเรียนรู้ประสบการณ์ของตนเอง และสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ทุกวิทยาเขต มีความตระหนักถึงความสําคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยยั่งยืนในด้านที่แต่ละคณะ/วิทยาเขตมีความพร้อม และถนัด พร้อมที่จะเป็นที่พึ่งของสังคม รวมในเรื่องงบประมาณ ที่มหาวิทยาลัยสามารถใช้งบประมาณกลางสนับสนุนได้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้บางโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย ชุมชนและ สังคม เกิดขึ้นได้จริง และเพื่อประโยชน์ในการรายงานผลการดําเนินงานตามตัวชี้วัดใน แผนพัฒนามหาวิทยาลัย และการจัดอันดับของสถาบันต่างๆ

     

    การพัฒนาด้านความยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นการพัฒนาในระดับนานาชาติ สาเหตุเพราะการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อทรัพยากรโลกเป็นอย่างมาก ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้รวมตัวกันในการประชุมองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี 2543 เพื่อตั้งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) อันประกอบด้วย 8 เป้าหมายหลัก หลังจาก 15 ปีผ่านไปคือปี 2558 เป้าหมายการพัฒนาทั้ง 8 ข้อ ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ  ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ จึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาขึ้นใหม่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติ ของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน เรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน