ชุดทดสอบไซยาไนด์ ทีมวิจัย ม.อ. รูปแบบฟิล์มพอลิเมอร์ ใช้งานง่าย ทราบผลภายใน 5 นาที มีส่วนผสมวัสดุธรรมชาติ
ไซยาไนด์เป็นสารที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในทางอุตสาหกรรม (เช่น การสกัดทองคำ ชุบโลหะ ผลิตเส้นใยสังเคราะห์และพลาสติก เป็นต้น) และเกษตรกรรม (ยากำจัดศัตรูพืช) ประกอบกับไซยาไนด์เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง จึงเป็นสารที่ได้รับความสนใจและรู้จักกันดีทั่วโลก แม้จะมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในหลายประเทศ (ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย มีการควบคุมปริมาณไซยาไนด์ในน้ำเสียโดยระบุไว้ในมาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือการขึ้นบัญชีสารประกอบไซยาไนด์หลายชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ใน พรบ.วัตถุอันตราย เป็นต้น) แต่ยังมีรายงานการปนเปื้อนไซยาไนด์ในสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ทั่วโลก ดังนั้นระบบหรือวิธีการตรวจวัดไซยาไนด์ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์
รศ. ดร.วรวิทย์ วงศ์นิรามัยกุล รศ. ดร.อารีย์ ชูดำ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และ Mr. Seth Doe-Puplampu นักศึกษาประเทศกาน่า ร่วมกันพัฒนาชุดทดสอบไซยาไนด์แบบแผ่นฟิล์มจากพอลิเมอร์ชีวภาพ หรือ Cyanide Test Kit ชุดทดสอบไซยาไนด์ในน้ำรูปแบบฟิล์มพอลิเมอร์ สำหรับคนทั่วไปและมีราคาถูก รวมถึงพัฒนาให้เป็นชุดทดสอบที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติ เนื่องจากไม่ต้องการให้การใช้งานชุดทดสอบสารพิษเป็นการเพิ่มเติมสารพิษให้กับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นหลังการใช้งาน ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิ่งประดิษฐ์ต้นแบบ (prototype) และผลวิจัยบางส่วนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการบนฐานข้อมูล asean citation index นอกจากนี้ นักศึกษาที่ร่วมพัฒนางานวิจัยนี้ได้รับรางวัล Best Presentation จากการนำเสนองานวิจัยในการประชุมวิชาการที่ซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
รศ. ดร.วรวิทย์ วงศ์นิรามัยกุล กล่าวว่า การตรวจวัดไซยาไนด์ตามวิธีมาตรฐาน จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ เช่น เครื่อง spectrometer หรือ ion chromatography เป็นต้น ซึ่งแม้จะมีประสิทธิภาพสูง แต่มีข้อจำกัดในการใช้หลายประการ เช่น เครื่องมือบางชนิดมีราคาสูงหรือต้องใช้สารเคมีราคาแพง ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ หรือเครื่องมือมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถพกพาไปตรวจวัดนอกสถานที่ได้ ดังนั้นทางทีมวิจัยจึงมีความสนใจที่จะลดข้อจำกัดเหล่านี้
ชุดทดสอบไซยาไนด์ในน้ำรูปแบบฟิล์มพอลิเมอร์ มีลักษณะเป็นหลอดพลาสติกขนาดเล็กที่มีแผ่นฟิล์มเคลือบอยู่ที่ก้นหลอด มีวิธีใช้งานง่ายๆ คือ 1. ใส่ตัวอย่างน้ำที่ปนเปื้อนไซยาไนด์ปริมาตร 1 มิลลิลิตร ลงในหลอดพลาสติก 2. ปิดฝาและเขย่า ตั้งทิ้งไว้ 5 นาที 3. กรณีที่ตัวอย่างน้ำมีไซยาไนด์ปนเปื้อนอยู่ สารที่อยู่ในฟิล์มจะละลายออกมาจากแผ่นฟิล์มและเข้าทำปฏิกิริยากับไซยาไนด์ในตัวอย่างน้ำ ทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน 4. กรณีที่ตัวอย่างน้ำไม่มีไซยาไนด์ น้ำจะไม่เกิดการเปลี่ยนสี
ประโยชน์ของชุดตรวจมีขั้นตอนในการใช้งานที่ง่าย ให้ผลการตรวจวิเคราะห์ที่รวดเร็วเพียง 5 นาที ปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน เนื่องจากไม่ใช้สารเคมีที่เป็นของเหลวเหมือนชุดทดสอบอื่นๆ จึงลดโอกาสการสัมผัสกับผู้ใช้งาน ตลอดจนมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผลิตจากส่วนผสมของวัสดุธรรมชาติ จึงไม่เป็นการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ เพื่อตรวจวัดสารไซยาไนด์ที่เป็นพิษ (ไม่ใช้พิษตรวจพิษ)
สำหรับการต่อยอดงานวิจัยในอนาคต เนื่องจากเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีส่วนผสมของวัสดุธรรมชาติที่อาจย่อยสลายได้ ทำให้ต้องมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอายุการใช้งาน หรืออายุการเก็บรักษา (shelf-life) เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จะพัฒนาจนนำไปสู่การจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้
รศ. ดร.วรวิทย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นข่าวที่มีการนำสารไซยาไนด์ในการฆาตกรรมในปัจจุบัน ว่า เป็นการกระตุ้นให้สังคมได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของสารอันตรายรอบตัวที่เข้าถึงได้ง่าย ถ้าใช้ปริมาณน้อยก็จะกระทบต่อคนจำนวนน้อย แต่ถ้าในอนาคตมีการลักลอบใช้ในปริมาณที่มากขึ้น (ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การก่อการร้าย เป็นต้น) ความเสียหายจะทวีคูณ ดังนั้น การเฝ้าระวัง ควบคุม ตรวจสอบสารอันตรายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย