รพ.ม.อ. พัฒนาการรักษา “ภาวะรกเกาะลึก” ได้รับการรับรองรายโรค (DSC) แห่งแรกในไทย จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
“ประชาชนโดยทั่วไปอาจมองว่าการผ่าตัดคลอดไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเลย แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในการผ่าตัดคลอดผู้ป่วยอาจมีภาวะตกเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่าการคลอดธรรมชาติ ที่สำคัญในการตั้งภรรภ์ครั้งหน้าผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ซึ่งหนึ่งนั่นคือ "ภาวะรกเกาะลึก" ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตกเลือดรุนแรง จำเป็นต้องตัดมดลูก หรือทำให้เสียชีวิตได้”
รศ. พญ.สาวิตรี พรานพนัส แพทย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ สาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศรกเกาะลึก (PSU PAS Team) เปิดเผยว่า “ภาวะรกเกาะลึก คือ การที่รกเกาะติดแน่นกับตัวมดลูกอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้ หลังผู้ป่วยคลอดถ้าแพทย์พยายามจะลอกรกออก จะทำให้ผู้ป่วยตกเลือดมาก จนอาจจะเกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้ สาเหตุของภาวะรกเกาะลึก อาจเกิดจากการที่มดลูกได้รับการบาดเจ็บหรือได้รับการผ่าตัดจนเกิดแผล เช่น การขูดมดลูก การตัดเนื้องอกที่มดลูก การตัดชิ้นเนื้อที่มดลูก แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ การมีประวัติผ่าตัดคลอดมาก่อน ยิ่งผ่าตัดคลอดหลายครั้ง จะมีโอกาสเกิดภาวะรกเกาะลึกมากขึ้นตามไปด้วย
อาการของภาวะรกเกาะลึก คือ ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการตกเลือด ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นประมาณปลายไตรมาสที่ 2 อาการจะคล้ายกับการมีรกเกาะต่ำ เนื่องจากภาวะรกเกาะลึกมักมีรกเกาะต่ำร่วมด้วยเสมอ อย่างไรก็ตามหากเป็นรกเกาะต่ำโดยไม่มีรกเกาะลึก ภายหลังคลอดทารกจะสามารถคลอดรกได้ตามปกติและตกเลือดได้ แต่หากเป็นรกเกาะลึกร่วมด้วย รกเจาะเกาะติดแน่นและไม่สามารถลอกออกมาได้เวลาที่พยายามดึงรกออกมาภายหลังคลอด จะทำให้มีการตกเลือดอย่างมาก และรุนแรงจนต้องตัดมดลูก หรือเสียชีวิตได้หากคลอดในโรงพยาบาลที่ไม่มีความพร้อม
จากข้อมูลพบว่า มีผู้ป่วยเป็นภาวะรกเกาะลึกมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าในอดีตเกือบ 20 เท่า เนื่องจากปัจจุบันมีการผ่าตัดคลอด ผ่าตัดมดลูกที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยในส่วนของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ พบผู้ป่วยที่มีภาวะรกเกาะลึกมากที่สุดในโลก อุบัติการณ์จะอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ของการคลอด อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยสูงในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องจากรับการส่งต่อผู้ป่วยจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเดียวที่รับอาสารักษาผู้ป่วยที่มีภาวะรกเกาะลึกในภาคใต้ทั้งหมด
จากปัญหาดังกล่าว จึงนำมาซึ่งการจัดตั้งทีมเพื่อดูแลผู้ป่วยภาวะรกเกาะลึก และการจัดตั้งศูนย์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 ได้มีการพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยมาเป็นระยะ ทั้งในแง่ของการวินิจฉัย การรักษา รวมถึงการดูแลหลังผ่าตัด มีการดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขาวิชาชีพ
การขอรับรองรายโรค หรือ Disease Specific Standard : DSC โรคภาวะรกเกาะลึก เป็นสิ่งที่ดีและสำคัญมาก เนื่องจากกระบวนการรักษา ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทีมแพทย์ต้องพัฒนาวิธีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ต้องมีรูปแบบการรักษา หรือแบบแผน ตลอดจนทีมทำงานที่ชัดเจน ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาภาวะรกเกาะลึกที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สามารถมั่นใจได้ว่า จะได้รับการรักษาตามมาตรฐาน และดีที่สุด เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุดเช่นกัน ผู้ป่วยตอบรับดีมาก รวมถึงผลตอบรับจากการให้บริการดูแลภาวะรกเกาะลึกในโรงพยาบาลเครือข่ายใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยในด้านของการรับรองรายโรค โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นับเป็นหน่วยงานแรกในประเทศที่ได้รับการรับรองเรื่องการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะรกเกาะลึก จาก สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นความภูมิใจมากที่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพที่ยากให้กับผู้ป่วยได้