ข่าวชาวสงขลานครินทร์

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับ นักวิจัย ประเทศไต้หวัน ค้นพบสาหร่ายชนิดใหม่ของโลก




นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย นางสาวสินจัย เพชรรัตน์ นางสาวกัตติกา พัฒราช นักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรชีววิทยา รศ.ดร.จารุวรรณ มะยะกูล อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ Prof. Dr. Shao Lun Liu อาจารย์จาก Tunghai University ประเทศไต้หวัน ได้ร่วมกันศึกษาความหลากหลายของสาหร่ายสีเขียวสกุล Halimeda จากเกาะไต้หวัน Dongsha Atoll และ Spratly Island โดยใช้หลักฐานทางชีวโมเลกุลด้วยยีน tufA และ rbcL และการกำหนดขอบเขตของชนิดโดยใช้ Automated Barcode Gap Discovery (ABGD) และ Statistical Parsimony Network (SPN) ร่วมกับการตรวจสอบลักษณะสัณฐานวิทยาอย่างละเอียด ผลการศึกษาพบสาหร่าย Halimeda จำนวน 9 ชนิด คือ Halimeda borneensis, Halimeda cylindracea, Halimeda discoidea, Halimeda distorta, Halimeda macroloba, Halimeda minima, Halimeda opuntia, Halimeda renschii, และ Halimeda velasquezii




    โดยค้นพบสาหร่ายชนิดใหม่ของโลก 1 ชนิด คือ Halimeda taiwanensis sp. nov. ซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวอยู่ในสกุล Halimeda โดยได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติทางด้านสาหร่ายคือ Phycological Research (https://doi.org/10.1111/pre.12516) สาหร่ายชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2555 จากบริเวณ “Sail Rock” ในอุทยานแห่งชาติ Kenting ทางตอนใต้ของประเทศไต้หวัน



    สาหร่าย Halimeda taiwanensis sp. nov. มีลักษณะเด่นที่ทำให้สามารถแยกความแตกต่างจากสาหร่ายชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกันได้ คือ ส่วนคล้ายใบหรือที่เรียกว่า segment มีรูปร่างกลมมน ขอบหยักคล้ายคลื่น โดยท่อ siphon เชื่อมกันอย่างสมบูรณ์บริเวณข้อต่อระหว่างแต่ละ segment เมื่อตรวจสอบโดยใช้หลักฐานทางชีวโมเลกุลพบว่าสาหร่ายชนิดนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกับชนิด H. cuneata อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยลักษณะทางอนุกรมวิธานรวมถึงงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถยืนยันได้ว่า สาหร่าย Halimeda taiwanensis sp. nov. เป็นสาหร่ายชนิดใหม่ของโลก โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามประเทศที่พบ และตัวอย่างสาหร่ายชนิดนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หน่วยวิจัยสาหร่ายและหญ้าทะเล (SSRU) แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ Academia Sinica ประเทศไต้หวัน