ข่าวชาวสงขลานครินทร์

กองทุน PSU-TUYF Charitable Trust Fund จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน ณ เกาะลิบง จ.ตรัง มุ่งวิจัย Marine Science สู่เส้นทางการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล




    กองทุน PSU-TUYF Charitable Trust Fund จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน Marine Science สำรวจพื้นหญ้าทะเล blue carbon สัตว์ทะเล และเส้นทางอาหารของพะยูน โดยมี ศ. ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรสาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้จัดการกองทุน PSU-TUYF Charitable Trust Fund รศ. ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินโครงการ และมีนักศึกษา นักวิจัยในกองทุนฯ ตลอดจนคณาจารย์ เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 คน ณ เกาะลิบง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 24-26 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา




    การศึกษาดูงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย กิจกรรมการลงพื้นที่แหลมจูโหย เพื่อสำรวจสถานวิจัยทางทะเล โดยในอนาคตจะก่อตั้งเป็น Marine Station, PSU สถานที่ที่เปิดให้บุคคลภายนอก นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจ เข้ามาร่วมทำกิจกรรมทางทะเล และศึกษาเกี่ยวกับสมุทรศาสตร์ หญ้าทะเล สัตว์ทะเล ซึ่งขณะนี้เป็นพื้นที่เขตห้ามล่าอีกด้วย จากนั้นได้มีการเดินทางไปยัง ภูเขาบาตู เพื่อสำรวจพื้นหญ้าทะเล Blue carbon สัตว์ทะเล และเส้นทางอาหารของพะยูน โดยมีนักวิจัย และตัวแทนชุมชนเกาะลิบงร่วมให้ข้อมูล 




    ซึ่งการจัดกิจกรรมศึกษาดูงาน Marine Science ในครั้งนี้เริ่มจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน TUYF Charitable Trust Fund เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการและวิจัย ในรูปแบบของการให้ทุนวิจัย ทุนการศึกษา ของ 3 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาวิชาระบาดวิทยา สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล โดยมี 4 โครงการ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี 



    ทั้งนี้ กองทุน PSU-TUYF Charitable Trust Fund มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางด้านสมุทรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และระบาดวิทยา ในเอเชีย ผ่านหลักสูตรและการฝึกอบรมระดับนานาชาติ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งของกิจกรรมวิจัยใน 3 สาขาวิชาดังกล่าว เสริมสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ของ 3 สาขาวิชา ในเอเชีย โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นศูนย์ประสานงาน และสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นและนานาชาติมีการดำเนินชีวิตที่เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ ใน 3 สาขาวิชาข้างต้นให้สามารถทำงานร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในภาคใต้ของประเทศไทย ตลอดจนเพื่อบูรณาการการฝึกอบรมกับการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด