ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ปัตตานี ร่วมสร้างสรรค์พลัง Soft Power เพื่อความเข้มแข็งชุมชนและความประทับใจของผู้มาเยือน




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โชว์พลัง “Soft Power” สร้างความประทับใจให้ผู้มาเยือน ในการจัดประชุมสัญจรกรรมการพัฒนาศักยภาพนิสิต นักศึกษา ทปอ. ครั้งที่ 3/2566 ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการด้านกิจการนิสิตนักศึกษา 200 คนจาก 29 สถาบันอุดมศึกษา โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเรียนรู้พหุวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีผ่านกิจกรรมในโครงการ Pattani Heritage City การบรรยายพิเศษหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การเสริมสร้างสมรรถนะจิตอาสาสู่นักศึกษา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งด้านพหุวัฒนธรรมของปัตตานี ที่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สร้างนักศึกษาให้เข้าใจความสำคัญของสังคมที่มีวัฒนธรรมเป็นฐาน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เคารพในความต่าง ร่วมกันขับเคลื่อนสังคม เป็นพลังที่เข้มแข็งในการพัฒนาประเทศ 



ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัชด ชมภูนิช ประธานคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพนิสิต นักศึกษา ทปอ. ได้แสดงความชื่นชมวิทยาเขตปัตตานี ที่สามารถใช้พลัง “Soft Power” ที่มีอยู่หลากหลายในพื้นที่ มานำเสนอเพื่อก่อให้เกิดความประทับใจ การยอมรับและความชื่นชมของผู้มาเยือน เพื่อที่จะกลับมาเยือนในครั้งต่อไป ซึ่งประกอบด้วย





กิจกรรมที่สร้างสรรค์ กิจกรรม “ศรีตรังสะพรั่งบาน บนเส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรม” เป็นกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมใหม่ของ ที่มีความน่าสนใจทั้งเชิงความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบกิจกรรม เนื้อหากิจกรรม การเรียนรู้วิถีคนและเมือง และการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนแวดล้อม ที่มีความถ่อมตน น่าประทับใจกับทั้งผู้พบเห็น ผู้จัดกิจกรรม ชุมชน และตัวนักศึกษาใหม่เอง



“ของอร่อย…ไม่รู้จบ” เมนูอาหารแต่ละมื้อสำหรับผู้มาเยือนนับเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่คัดสรรมาด้วยความตั้งใจเพื่อให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวปัตตานี เช่น นาซิดาแฆ โรตี ชาชัก ข้าวต้มซึ่งเป็นอาหารเครื่องดื่มยอดนิยมของชาวบ้าน จนถึงของหวาน เช่น ข้าวหมกอาหรับ กาแฟ โรตี ชาชัก สละลอยแก้ว ไอสกริม จนมาถึงมื้อส่งท้ายเป็น เป็นต้น





“ของดีคู่เมือง : ปัตตานี” ในความเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่น่าค้นคว้าศึกษาในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติทางด้านความเชื่อและศาสนาที่แตกต่างแต่ผสมกลมกลืนกันด้วยดี ทั้งไทย จีน และมุสลิม และสถานที่สำคัญทางศาสนา เช่น มัสยิดกลางปัตตานี มัสยิดกรือเซะที่มีประวัติความเป็นมายาวนานที่น่าสนใจทั้งเชิงประวัติศาสตร์ ตำนานความเชื่อ และความงดงามของสถาปัตยกรรม ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ซึ่งถือเป็นที่เคารพนับถือของคนในพื้นที่และชาวจีนจากทั่วทุกมุมประเทศ ศาลหลักเมืองปัตตานี และวัดช้างไห้ กับตำนานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ทวด เกจิที่มีผู้เคารพนับถือมากมายทั่วประเทศ 



"เสียงสวรรค์สร้าง(สันติ)สุข" เป็นดนตรี และการแสดงประกอบเสียงเพลงที่สะท้อนวัฒนธรรม อัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น อนาชีด (Anasyid) ซึ่งเป็นการขับร้องบทเพลงที่เกี่ยวกับการศรัทธา การทำความดี ส่งเสริมการให้ความรักต่อกัน บทเพลงอนาชีดคือบทเพลงส่งเสริมให้ทุกคนทำความดีต่อทุกสิ่งที่อัลลอฮสรรค์สร้างขึ้น อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป 



Patanista Academy Patanista สถาบันออกแบบแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้สร้างความสวยงามที่น่าประทับใจผ่านการถักทอบนผืนผ้าพร้อมลวดลายที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม และเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสามารถนำผ้าบาติกมาออกแบบเพื่อสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้สำหรับทุกเพศทุกวัย และถือเป็นโครงการตัวอย่างสำคัญในการนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยออกไปเผยแพร่แก่ชาวบ้านเพื่อพัฒนาชุมชนทางวัฒนธรรมปัตตานีให้เข้มแข็งทั้งเชิงองค์ความรู้และรายได้ รวมทั้งเป็นพื้นที่ฝึกการปฏิบัติงานจริงของนักศึกษา 



เหนือสิ่งอื่นใดคือ การมีจิตวิญญาณที่สำคัญ ที่ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร รวมทั้งศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยึดถือตลอดมา นั่นคือการยึดถือ “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” (Our Soul is for the Benefit of Mankind) ซึ่งเป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ ที่ทุกคนใช้เป็นหลักคิดในการทำงานมาโดยตลอด